ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี "แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว"

แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว
แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว

แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว

แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว อยู่ในเขตตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เป็นภูเขาหินปูน อยู่ระหว่างเขาโกนและเขาตาชะเมา ตามสภาพภูมิศาสตร์ เขาแก้วอยู่ห่างจากเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตยเป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร จุดสูงสุดของเขาแก้วสูงประมาณ ๒๕๘ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีถ้ำอยู่รวม ๑๖ ถ้ำ รอบ ๆ เขาแก้วมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้เคียงคือคลองบอน ประมาณ ๑ กิโลเมตร ทางทิศตะวันตก คลองเหม็นประมาณ ๕๐๐ เมตร ทางทิศใต้และคลองแก้วประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ทางทิศตะวันออก ลำคลองทั้งสามสายมีน้ำไหลไม่ตลอดปี

แหล่งโบราณคดีเขาแก้วสำรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยฝ่ายวิชาการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร่วมกับงานโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้เก็บตัวอย่างเครื่องมือหินถ กะเทาะมาเพื่อวิเคราะห์ ต่อจากนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ หน่วยศิลปากรที่ ๕ กับฝ่ายวิชาการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและงานโบราณคดีใต้น้ำได้ทำการสำรวจอีกครั้ง ในจำนวนถ้ำทั้งหมด ๑๖ ถ้ำ ได้ทำการสำรวจเฉพาะถ้ำขนาดใหญ่ จำนวน ๓ ถ้ำ

ถ้ำหมายเลข ๑

อยู่บริเวณหัวเขาทางทิศใต้ เป็นถ้ำ ( Cave ) ขนาดใหญ่ แบ่งได้เป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นเพิงผา ( Rock Shelter ) อยู่ด้านหน้าของถ้ำกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ลึกประมาณ ๘ เมตรแสงสว่างเข้าได้ทั่วถึง พื้นถ้ำบริเวณเพิงผาใกล้ผนังถ้ำทางทิศตะวันออกมีรอยขุดมูลค้างคาวเป็นหลุมขนาดใหญ่ลึกกว่า ๑ เมตร ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งถูกขุดขึ้นมาด้วย บริเวณเพิงผาถ้ำพบ หลักฐานทางโบราณคดีประเภทเครื่องมือหินกะเทาะจำนวนมาก ส่วนที่สองเป็นห้องขนาดเล็ก ปากทางเข้ากว้างประมาณ ๑.๕๐ ม. ภายในเป็นคูหากว้างประมาณ ๓ เมตร แสงสว่างเข้าทั่วทั้งห้องที่ผนังห้องด้านในมีช่องสูงจากพื้นถ้ำประมาณ ๒ เมตร จากช่องนี้สามารถปีนขึ้นเพื่อสู่ส่วนที่สามซึ่งเป็นห้องอยู่ด้านในสุด ลักษณะเป็นถ้ำเกือบกลม กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ภายในห้องแสงสว่าง เข้าถึงได้เพียงเล็กน้อยทำให้ค่อนข้างมืดเกือบสนิท หลักฐานที่พบภายในถ้ำหมายเลข ๑ เป็นเครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ เครื่องมือหินกะเทาะรูปเกือบกลม เครื่องมือรูปหยดน้ำ สะเก็ดหิน มีทั้งกะเทาะหน้าเดียวและกะเทาะ ๒ หน้า ทำจากไรโอไลท์ แอนดีไซท์ และทัฟท์ ในลักษณะหินกรวดมน ซึ่งพบได้ ทั่งไปบริเวณ พื้นที่ใกล้ ๆ กับถ้ำ และพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน มีทั้งแบบ ผิวเรียบและตกแต่งเป็นลายขูดขีด รวมทั้งพบกระดูกสัตว์ เขาสัตว์พวกเก้ง กวาง และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์จำนวนหลายชิ้น

ถ้ำหมายเลข ๒

บริเวณพื้นถ้ำยังไม่ถูกรบกวน หลักฐานผิวหน้าดินจึงพบไม่มาก พบเพียงเครื่องมือสะเก็ดหิน โกลนเครื่องมือหินขัด เศษภาชนะ ดินเผา เนื้อเครื่องดิน

ถ้ำหมายเลข ๓

บริเวณถ้ำยังไม่ถูกรบกวนเช่นเดียวกับถ้ำหมายเลข ๒ จึงพบเศษชิ้นส่วนของเครื่องมือหินกะเทาะค้อนหินซึ่งชำรุดหักกลาง มีร่องรอยการใช้งานที่ส่วนปลาย เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดินลายขูดขีดและลายกดประทับ

แกลลอรี่ภาพ

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว
แหล่งโบราณคดีเขาแก้วสำรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยฝ่ายวิชาการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร่วมกับงานโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร
แหล่งโบราณคดี
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี
โบราณคดีเขาแก้ว วิชาการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถ้ำ
https://www.m-culture.go.th/chanthaburi/ewt_news.php?nid=312
นางสาวสุชารี แสงทอง แก้ไขล่าสุด 2020-12-15 15:29:16

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว
แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว
แหล่งโบราณคดีบ้านคลองบอน
แหล่งโบราณคดีบ้านคลองบอน

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

วัดจันทนาราม
วัดจันทนาราม
พระนางกาไว
พระนางกาไว
อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช