จันทบุรี พบเอกสารเก่า บันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1และ 2 รวมทั้งช่วงสงครามเย็น เตรียมเสนอมรดกความทรงจำโลก
16ส.ค.61-หอจม.เหตุฯ จันทบุรีเปิดเอกสารสำคัญล้ำค่า บันทึกสงครามโลกครั้งที่ 1- 2 สงครามเย็น รวมถึงอดีตการทำพลอยเมืองจันทน์ สมุดจดทะเบียนนามสกุลเมืองจันทบุรี เดินหน้าเสนอขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำโลกภายในปี 61
ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี กรมศิลปากร จัดโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เล่าเรื่องเมืองโบราณพันปี “จันทบุรี” ดินแดนยุทธศาสตร์ชาติไทย เพื่อติดตามการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อส่งเสริมศักยภาพเมืองเพนียด จังหวัดจันทบุรี ศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน
โดยนายเมธาดล วิจักขณะ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เดิมเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2459 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 เพื่อใช้ทำเป็นศาลาว่าการมณฑลจังหวัดจันทบุรี ซึ่งประกอบด้วยเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด จนกระทั่ง พ.ศ.2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑล กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.2520 อาคารหลังนี้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดจันทบุรี จนถึง พ.ศ.2521 ต่อมา พ.ศ.2546 หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี ได้ขอให้เป็นที่ทำการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี กล่าวว่า อาคารมีอายุเก่าแก่กว่า 102 ปี เดิมเป็นอาคารศาลากลางเก่า รูปทรงเป็นอาคารแบบยุโรปสไตล์โคโลเนียล ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน ยกใต้ถุนสูงสำหรับเก็บวัสดุ หลังคามุงกระเบื้องว่าว ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างตะวันออกและตกวันตก โดยหลังจากใช้เป็นที่ทำการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้ดำเนินการบูรณะอาคารใน พ.ศ.2547 ระหว่างการบูรณะได้พบเอกสารสำคัญของจันทบุรีบริเวณใต้ถุนอาคาร จำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขนย้าย คัดแยก พร้อมทั้งประเมินคุณค่าความสำคัญของเอกสารต่างๆ แบ่งเป็นหัวเรื่องต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 10 ปี ในการศึกษารายละเอียด นับเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานสำคัญของชาติ จึงได้ริเริ่มทำโครงการ “การบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก:จันทบุรี” เพื่อนำเสนอเข้าคณะกรรมการมรดกความทรงจำโลกแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 เป็นครั้งแรก จากนั้นคณะกรรมการฯได้พิจารณา และให้ผู้จัดทำปรับแก้รายงานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น คาดว่า จะสามารถเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งปลายปีนี้
“ การพบเอกสารสำคัญครั้งนี้ตื่นเต้นที่สุดเหมือนเจอทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกของชาติ ที่รวบรวมไว้ใต้ถุนอาคาร เอกสารมีความสูงถึง 800 ลูกบาศก์ฟุต " สำหรับ เนื้อหาเอกสาร โดยสรุปเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลก ไม่มีที่ไหนแล้ว เป็นเอกสารของส่วนราชการไทยและเอกสารบันทึกจากต่างประเทศ อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ.2449-2522 เป็นเอกสารเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารร่วมรบ โดยมีทหารอาสาชาวจันทบุรีร่วมสงครามด้วย เป็นการตอบโต้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย( มท.)กับจังหวัดจันทบุรี ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือเวียนสอบถามรายชื่อทหารที่ยังมีชีวิตอยู่ เอกสารชุดถัดมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิด ที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอท่าใหม่ สร้างความเสียให้บ้านเรือน และเอกสารชุดถัดมาพูดถึงสงครามเย็น ทำให้รู้สภาวการณ์บ้านเมืองยุคข้าวยากหมากแพง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างไทย เขมร ขณะเดียวกันยุคนี้คนไทยยังเริ่มมีการจดทะเบียนนามสกุล
บริเวณ ใต้ถุนอาคารเราพบเอกสารการจดทะเบียนนามสกุลของชาวจังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 เล่ม แยกเป็นหมวดหมู่ ก-ฮ รวมประมาณ 6,000 กว่านามสกุล โดยมีการตั้งนามสกุลสะท้อนสภาพภูมิศาสตร์ อาทิ ริมคีรี หนองบัวแดง หนองบัวขาว โดยนามสกุลแรก จดเมื่อปี 2457 ชื่อสกุล กาญจนกิจ รวมถึงทำให้ทราบว่ามีชุมชนญวนตะวันตกและญวนตะวันออกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรีจำนวนมาก อาทิ อาทิ อันนัม อานามวัฒน์ อานามนารถเป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเอกสารเก่าเกี่ยวข้องกับการทำพลอยเมืองจันทบุรี เริ่มจากชาวกุลา เข้ามาอาศัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ทำบ่อพลอย นำมาสู่การเป็นแหล่งค้าพลอยเมืองจันท์ ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของจังหวัดจนถึงปัจจุบัน “นางสุมลฑริกาญจณ์ กล่าว
นางสุมลฑริกาญจณ์ กล่าวต่อว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้งบประมาณจากกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการสแกนเอกสารสำคัญดังกล่าวให้เป็นไฟล์ดิจิตอลเพื่อเป็นการอนุรักษ์และให้บริการในการศึกษาค้นคว้า โดยขณะนี้สามารถสืบค้นได้แล้วกว่า 5,000 รายการ จากข้อมูลที่มีทั้งหมดหลายหมื่นรายการ อย่างไรก็ตามเอกสารต้นฉบับประชาชนทั่วไปสามารถมาศึกษาค้นคว้าได้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี