ชาวไทยเชื้อสายเขมร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ที่มีความสัมพันธ์กับชนชาติไทย และประเทศไทยมาช้านาน โดยแบ่งชาวไทยเชื้อสายเขมรออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ ชาวเขมรบน หรือเขมรสูง[4] ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือที่เรียกว่า อีสานใต้ โดยเชื่อว่าอพยพเข้ามาในดินแดนไทยในช่วง พ.ศ. 2324-2325
และกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนจากประเทศกัมพูชาในสมัยอดีตซึ่งปัจจุบันกลุ่มหลังนี้จะกลมกลืนไปกับชาวไทยในปัจจุบันไปเสียแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาอพยพ และชาวกัมพูชาอพยพซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยในภาวะสงคราม โดยบางส่วนได้อพยพกลับภูมิลำเนาเดิม ขณะที่บางส่วนยังคงปักหลักอยู่ในดินแดนไทยต่อไป
ชาวไทยเชื้อสายเขมรนั้นจะมีภาษาที่แตกต่างออกไปจากภาษาเขมรในประเทศกัมพูชา โดยภาษาเขมรที่ใช้พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานใต้ จะเรียกว่า ภาษาเขมรถิ่นไทย หรือเขมรบน โดยมีความต่างจากภาษาเขมรในกัมพูชาในเรื่องของหน่วยเสียงสระ การใช้พยัญชนะ รากศัพท์ และไวยากรณ์ โดยผู้ใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยจะสามารถเข้าใจภาษาเขมรทุกสำเนียง ส่วนผู้ใช้สำเนียงพนมเปญจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจ นอกจากภาษาเขมรถิ่นไทยแล้ว ชาวไทยเชื้อสายเขมรกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถใช้ภาษาเขมรได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มที่ติดชายแดนใกล้กับประเทศกัมพูชา อย่างเช่นแถบจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด
เนื่องจากเมืองจันทบุรีเคยเป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมและศาสนาจากเขมร กอร์ปกับปัจจุบันมีเขตแดนติดต่อกับประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา จึงมีหมู่บ้านชาวเขมรอยู่ตามแนวชายแดนหลายแห่ง เช่น บ้านแหลม บ้านโอลำเจียก และบ้านผักกาดในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน