"หลวงพ่อคง" เป็นชาวหมู่บ้านตาพราย ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด (เขตติดต่อ ต.วังสรรพรส อ.ขลุง จ.จันทบุรี) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ ก.ย. ๒๔๔๕ ตรงกับปีที่ ๓๔ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดาชื่อ นายส้อง โยมมารดาชื่อ นางโอง นามสกุล "ฑีฆายุ" ท่านเป็นบุตรคนหัวปี มีพี่น้องชายหญิงอีก ๑๑ คน ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ท่านได้เกิดมาในแวดวงของผู้มีวิชาอาคมเป็นที่เลื่องลือ โดย ปู่ของท่าน คือ หลวงปู่วง ซึ่งเป็นพระผู้มีวิชาอาคมเป็นที่เลื่องลือในสมัยนั้น และตาของท่าน คือ หลวงคีรีเขตต์ รับราชการดูแลหัวเมืองตราด-จันทบุรี ผู้มีคาถาอาคมขลัง เป็นผู้มีวิชาทางคงกระพันเป็นเลิศ
วัยเด็กเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดชมพูทราย จบชั้นประถมปีที่ ๓ เมื่อพ.ศ.๒๔๖๒ และช่วยทางบ้านหาสมุนไพรของป่าออกมาขาย
อุปสมบทครั้งแรก พ.ศ.๒๔๖๖ อายุได้ ๒๑ ปี อุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่อวันอังคารที่ ๕ มีนาคม ๒๔๗๗ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติมาแล้ว ๓ วัน ขณะอายุได้ ๓๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดชมพูทราย อ.เขาสมิง จ.ตราด มีพระอธิการผูก วัดสลัก จ.ตราด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาธรรมว่า "สุวัณโณ" แปลว่า "ผู้มีผิวพรรณงามดุจทองคำ"
หลังจากบวชแล้วได้ขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก ประเพณีทางศาสนา ๑๒ เดือน หลวงพ่อคงนั้นนับเป็นผู้คงแก่เรียนรูปหนึ่ง ท่านได้ศึกษาวิชาไสยศาสตร์โบราณต่างๆ ที่ตกทอดกันมาจากครูบาอาจารย์ชาวเขมร และจากพระภิกษุผู้คงแก่เรียนชาวพื้นบ้าน โดยมีครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มากมาย ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส นอกจาก หลวงปู่วง และ หลวงคีรีเขตต์ ผู้เป็นปู่ และ ตาแท้ ๆ ของท่านแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านอื่นก็เช่น หลวงพ่อเม วัดมาบไผ่ ต.มาบไผ่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี (หลวงพ่อเม ท่านมีวิชาขนาดเหาะเหินเดินอากาศได้), หลวงพ่ออุก-หลวงพ่อเจาะ วัดโป่งโรงเซ็น ต.โป่งโรงเซ็น อ.มะขาม จ.จันทบุรี, หลวงพ่ออ่ำ วัดสะตอน้อย, หลวงพ่อหริ่ง พ่อครูเต๋า ฆราวาสจอมคาถา, พ่อครูตาสด ฆราวาสจอมขมังเวท เป็นต้น
วิชาที่ได้ร่ำเรียนมีหลายแขนง ทั้งคาถาหัวใจ ๑๐๘ คาถาคงกระพันชาตรีต่างๆ การเขียนอักขระเลขยันต์ภาษาขอม การเขียนลบผงอิทธิเจ ปถมัง การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาการหาสมุนไพรของป่า การหาว่านคงกระพัน การสักยันต์ วิชาย่นระยะทาง การเดินจงกรม และการฝึกจิตฝึกสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งปฏิบัติไปตามขั้นตอนตามที่พระอาจารย์หลายรูปได้สั่งสอนมา
หลวงพ่อคงได้ออกเดินธุดงค์ไปทั่วประเทศ ตลอดจนข้ามไปทางฝั่งประเทศพม่า กัมพูชา เพื่อฝึกฝนวิชาที่ท่านได้ร่ำเรียนมา โดยเฉพาะวิชา เสือสมิง ท่านมีความเชี่ยวชาญชำนาญเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้ว่า วัตถุมงคลของท่านแทบทุกรุ่น จะต้องมีรูปเสือสมิง ปรากฏอยู่ด้วย
หลังจากที่ได้เดินธุดงค์จนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านได้กลับมาอยู่ที่วัดวังสรรพรส และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่พ.ศ.๒๕๐๘ อายุ ๖๓ ปี (ข้อมูลบางแหล่งว่าเป็นเจ้าอาวาสในปี ๒๔๙๒ อายุ ๔๗ปี บางแหล่งว่าเป็นเจ้าอาวาสในปี ๒๕๐๓ อายุ ๕๘ ปี ) เป็นต้นมา
ทางด้านการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ท่านก็ได้เข้าเรียนนักธรรมที่สำนักเรียนวัดสลัก กระทั่งสอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก ตามลำดับ
ปีพ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังสรรพรส อ.ขลุง จ.จันทบุรี พ.ศ.๒๕๑๓ รับตำแหน่งพระอธิการ พ.ศ.๒๕๒๒ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ "พระครูอาคมวิสุทธิ์" ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรูปหนึ่งของภาคตะวันออก ร่วมสมัยเดียวกับ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า และหลวงพ่อศรีนวล วัดเกวียนหัก หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ และ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค เป็นต้น ปีพ.ศ.๒๕๐๐ ชื่อเสียงของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป พิธีพุทธาภิเษกตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่างๆ จะต้องนิมนต์ไปร่วมนั่งปรกแทบทุกงาน เมื่อได้รับนิมนต์ท่านก็มักจะไปร่วมทุกครั้ง ไม่ว่าจะวัดใกล้วัดไกลแค่ไหนก็ตาม เมื่อคราวพิธีพุทธาภิเษกพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ ครั้งยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ในพ.ศ.๒๕๐๐ ท่านก็ได้ร่วมในพิธีครั้งนั้นด้วย นอกจากนี้ในส่วนตัวของท่านเองก็ได้สร้างวัตถุมงคลออกมาหลายรุ่น เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัตถุมงคลของท่านคือ จะมีรูป เสือสมิง อยู่ด้านหลัง หรือไม่ก็เป็น รูปพระปิดตา ซึ่งเป็นฝีมือการเขียนโดยตัวท่านเอง วัตถุมงคลของหลวงพ่อคงทุกรุ่นล้วนมีพุทธคุณเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน เป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างไกล นอกจากนี้ท่านยังมีความเชี่ยวชาญด้านรักษาโรคด้วยสมุนไพรอีกด้วย จนเป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้านตลอดมา
หลวงพ่อคงเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนทั้งไกลและใกล้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้เริ่มทำธง เสื้อยันต์ ตะกรุด และปลัดแจกเรื่อยมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 อันเป็นปีกึ่งพุทธกาล เพื่อสมนาคุณแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างพระอุโบสถ ดังนั้นในปีนั้นท่านจึงได้จัดทำเหรียญรูปเหมือนของท่านเป็นครั้งแรก ท่านได้นำเหรียญของท่านมาเข้าพิธีที่ท้องสนามหลวงด้วย ภายหลังท่านก็นำเหรียญของท่านปลุกเสกในวาระอื่นๆด้วย เช่นงานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า และงานวันเกิดของหลวงพ่อ จำนวนสร้างทั้งหมด 15,000 เหรียญ ผิวเหรียญสีขาวเนื้ออัลปาก้าทั้งหมด เหรียญรุ่นนี้เคยมีอภินิหารเป็นที่เลื่องลือกันมาก วัตถุมงคลหลวงพ่อมีประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ค้าขายดี แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังกล่าวถึงตลอด หลวงพ่อคงมีจริยาวัตรงดงามมาก บุคคลต่างๆรวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วประเทศเดินทางมากราบไหว้ท่าน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลวงพ่อคงใจดี มีเมตตา ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมาโดยตลอด ไม่ลำเอียง ใครเจ็บป่วยมาหาท่าน ท่านจะเมตตาช่วยเหลือตลอดทุกคนเสมอไป หลวงพ่อคงมีแต่ให้กับให้ ใครมาขออะไรก็ให้ทั้งนั้น แม้กระทั่งเงินและวัตถุมงคล ตลอดระยะเวลาในการอุปสมบทของท่าน ท่านได้ปฏิบัติตามกฏของสงฆ์อย่างเคร่งครัดมีการครองผ้าสวดมนต์ ทำวัตรเช้า เย็น ตลอดมามิได้ขาด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูอาคมวิสุทธิ์ ซึ่งแปลว่า พระผู้ซึ่งมีอาคมขลังเป็นที่สุด
หลวงพ่อคงได้อนุญาตให้ลูกศิษย์สร้างวัตถุมงคลทั้งที่เป็นประเภท เหรียญ รูปหล่อ และพระเนื้อผง มากมายหลายสิบรุ่น ส่วนวัตถุมงคลประเภทเครื่องราง อาทิ ผ้ายันต์ ตะกรุด รวมทั้งปลัดขิก และเขี้ยวเสือต่างๆ หลวงพ่อคงได้สร้างเองก็มีหลายแบบ ล้วนแล้วต่างมีประสบการณ์มากมายและส่วนมากวัตถุมงคลของท่านจะทำการปลุกเสกเดี่ยวจนครบไตรมาส จึงจะเอามาออกแจกใครได้รับต่างก็หวงแหน
วัตถุมงคลของหลวงพ่อคงแต่ละรุ่นล้วนมีประสบการณ์มากมายในทุกด้าน มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ นับตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พลเรือเอกสงัด ชลอ อยู่ พล.ต.ต.ม.ร.ว.พงศ์สระ เทวกุล ฯลฯ
วัตถุมงคลของหลวงพ่อคง แต่ละรุ่นล้วนมีประสบการณ์มากมายในทุกด้าน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เช่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ เรือเอกรังสรรค์ โตอรุณ ได้นำเรือรบมาจอดที่คลองใหญ่ (สารสิน) โดยได้รับคำบอกเล่าจากจ่าเอกพรหมมา หิรัญ คนพื้นเพ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ได้ชวนท่านไปกราบหลวงพ่อคง เมื่อได้พบกับหลวงพ่อคง ท่านได้ขอให้หลวงพ่อคงลง นะ หน้าทองให้ โดยทำพิธีและปิดทองที่หน้าผาก ๘ แผ่น และที่ลิ้นอีก ๑ แผ่น รวมทั้งให้ลงเหล็กจารบนหน้าผาก พร้อมกับเป่าที่หน้าผาก ระหว่างนั้น เรือเอกรังสรรค์มีความรู้สึกเหมือนมีลมร้อนปะทะที่หน้าผากและลิ้น โดยแผ่นทองคำเปลวหายไปอย่างอัศจรรย์
หลังจากลง นะ หน้าทองเสร็จแล้ว หลวงพ่อคงได้บอกให้เรือเอกรังสรรค์กลับไปที่เรือรบโดยเร็ว เพราะว่าเรือกำลังจะจม โดยท่านคิดแย้งอยู่ในใจว่า เรือรบลำใหญ่จะจมได้อย่างไร แต่หลวงพ่อคงได้กำชับให้รีบกลับไปเร็วๆ เมื่อ เรือเอกรังสรรค์ มาถึงเรือรบ ได้รับรายงานว่า น้ำเข้าทางวาล์วเปิดปิดน้ำ เพราะวาล์วน้ำเกิดขัดข้อง น้ำกำลังท่วมถึงห้องเครื่องเรือ และจะถึงเครื่องแปลงไฟ เรือเอกรังสรรค์สั่งให้แก้ไขได้ทันท่วงที
เรือเอกรังสรรค์ได้รับราชการต่อมาจนได้เลื่อนยศเป็น พล.ร.ต.รังสรรค์ โตอรุณ ร.น. ส่วนจ่าเอกพรหมา มียศเป็นนาวาตรี ประสบการณ์เกี่ยวกับหลวงพ่อและอาจารย์ของท่านคือหลวงพ่อเมนั้น คุณผู้ใช้นามแฝงว่า “เณรน้อยเส้าหลิน” ได้โพสท์ไว้ในเวบบอร์ด กระดานสนทนาวัดท่าพระ (http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=6628) เมื่อวันที่ ๒๒ ม.ค. ๒๕๕๒ ไว้ว่า
“พ่อผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เป็นศิษย์ของท่านครับเพราะพ่อผมเป็นคนอ.ขลุง จ.จันทบุรีครับ สมัยนั้นพ่อผมได้ทำเหมืองพลอย อยู่จังหวัดจันทบุรี เลยได้มีโอกาสได้อุปัฏฐากท่าน นำรถยนต์รับส่งท่านอยู่บ่อยครั้งครับ (ในสมัยพ.ศ.2520 ต้นๆครับ สมัยนั้นรถยนต์มีน้อยมากครับ) ตอนพ่อผมบวช และไปขอลาสิกขากับท่าน ท่านได้นำน้ำลายทาที่หน้าอกของพ่อผมด้วยมือของท่านเอง แล้วให้ลูกศิษย์มาสักเสือสมิงให้ครับ
พ่อผมเล่าให้ฟังว่า เวลาท่านปลุกเสกปลัดขิก ต้องใช้โซ่มาล่าม เพราะไม่ฉะนั้นกระโดดหนีไปหมด บางตัวก็กระโดดชนหลังคาสังกะสีดังบ้าง บางครั้งกระโดดทะลุหลังคากระเบื้องก็มีครับ
ย่าผมเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อเม ที่เป็นอาจารย์หลวงพ่อคง นั้น ท่านรูปร่างสูงใหญ่มาก ตอนย่าผมเป็นเด็กหลวงพ่อเมก็ชราภาพแล้ว (ย่าผมเกิดพ.ศ. ๒๔๖๔) ท่านพ่อเม เป็นพระอุปัชฌาย์ที่ดังมาก มีพระมาบวชกับท่านมากครับ มีทั้งพระเขมร พระต่างจังหวัดมาเรียนวิชากับท่านเป็นจำนวนมาก ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อเมที่ชาวบ้านแถวนั้นทราบดีก็คือ วิชาส่งของทางอากาศครับ คือท่านจะนำของโยนขึ้นบนฟ้า และสั่งให้ไปหาใคร หรือไปถวายเจ้าอาวาสวัดนั้นวัดนี้ครับ อีกวิชาที่ชาวบ้านมักเห็นกันบ่อยๆ คือตอนพลบค่ำ ท่านจะเหาะไปเรียนวิชากับโยมพ่อท่าน ที่เป็นชาวลับแล อยู่ในเทือกเขาสระบาป จ.จันทบุรี ชาวจังหวัดจันทบุรีเชื่อว่าคนลับแล คือคนบริสุทธิ์ด้วยศีล ๕ ปฏิบัติธรรม เป็นคนกึ่งเทวดาครับ”
ในช่วงท้ายของชีวิตหลวงพ่อคง ได้อาพาธเป็นไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม มีโรคแทรกซ้อน เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๒ ลูกศิษย์ได้ส่งหลวงพ่อคงไปรักษาที่โรงพยาบาลตากสิน จันทบุรี จนพอทุเลา ท่านก็ขอกลับวัดวังสรรพรส ต่อมาอีกไม่กี่วัน ท่านก็ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ณ วัดวังสรรพรส เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๒ รวมสิริอายุได้ ๘๗ ปี พรรษา ๕๕
ก่อนที่จะท่านมรณภาพ ได้ปรารภกับศิษย์ว่า "ให้เก็บร่างท่านไว้ มิฉะนั้นต่อไปจะไม่มีคนมาวัด" ทางวัดจึงเก็บร่างของท่านมาถึงทุกวันนี้ และมีเรื่องแปลกเกี่ยวกับร่างของท่านคือ หลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว เล็บมือ เล็บเท้า เส้นผมของท่านจะยังคงยาวออกมาตลอด