ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี "สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี"

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

วัยพระเยาว์ของ “ท่านหญิงนา”

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระนามเดิมคือ หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ สมเด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ (พระอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ทรงมีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ

๑.หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัฒน์

๒.หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์

๓.หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัฒน์

๔.หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัฒน์

๕.หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัฒน์

เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๒ ปี พระบิดาได้ทรงนำเข้าถวายตัวอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู ในพระราชวังดุสิต หม่อมเจ้ารำไพพรรณีทรงเป็นพระนัดดาพระองค์หนึ่ง ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระราชทานความเอ็นดู ความห่วงใยอยู่เสมอ ทรงเอาใจใส่อบรมอย่างใกล้ชิด เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณีมีพระชันษา ๖ ปี ก็ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาที่โรงเรียนราชินี ต่อมาเมื่อตามเสด็จฯสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปประทับที่วังพญาไท จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลที่ประทับเกินไป และโปรดเกล้าฯ ให้ครูจากโรงเรียนราชินีมาถวายพระอักษรที่พระตำหนัก เมื่อถึงเวลาสอบไล่จึงจะเสด็จไปสอบที่โรงเรียนราชินี ในระหว่างนี้ได้ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ และในเวลาต่อมาก็ได้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนทรงมีความรู้อย่างกว้างขวาง

เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณีพระชันษา ๑๑ ปี ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงประกอบพิธีเกศากันต์ตามโบราณพระเพณี พร้อมกับพระอนุชาและพระญาติอื่น ๆ ในงานพิธีเกศากันต์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบนมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งพระองค์ให้หม่อมเจ้ารำไพพรรณีโดยพระองค์เอง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเครื่องประดับชุดมรกตกับเพชร ครั้งแต่งพระองค์เสด็จหม่อมเจ้ารำไพพรรณีพร้อมด้วยพระญาติที่เข้าพิธีเกศากันต์ร่วมกันก็ประทับเสลี่ยงเสด็จจากที่ประทับไปยังพระที่นั่งอมริทรวินิจฉัยมไหสูรย์พิมาน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้วได้มีการฉลองสมโภชอย่างสมพระเกียรติ

พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๓๖ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้าย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชกุมารี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชาย ประชาธิปกศักดิเดชน์ ชนเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐ์ศักดิ์ อุภัยปักษนาวิมลอสมัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงศษ์บริพัตรบรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากรสถาวรวรัจยคุณ อดุลยราชกุมาร” เมื่อยังทรงพระเยาว์สมเด็จพระบรมราชชนนีทรง เรียกว่า “ลูกเอียดน้อย” และทรงสนิทเสน่หารักใคร่ห่วงใยพระราชโอรสเล็กเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากพระราชพิธีโสกันต์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศัดดิเดชน์ฯ ทรงได้รับบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนอีตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเสด็จเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยที่เมืองวูลฟ์ลิช ประเทศอังกฤษ ด้านวิชาทหารปืนใหญ่ม้า

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จนิวัตพระนครในเดือนเมษายนพุทธศักราช ๒๔๕๘ ทรงเข้ารับราชการ ในตำแหน่งนายทหารคนสนิทพิเศษของพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และเมื่อทรงว่างจากพระภารกิจก็เสด็จไปยังวังพญาไทเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เป็นเมืองนิตย์ จึงได้ทรงรู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับพระประยูรญาติ รวมทั้งหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ ซึ่งพระองค์ทรงต้องพระอัธยาศัยมากกว่าองค์อื่น

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ทรงผนวชเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๐ เมื่อทรงผนวชครบไตรมาสแล้วจึงทรงลาสิขา และในปีต่อมาได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ทรงมีพระหฤทัยผูกพันในหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ใคร่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะเษกสมรสกับหม่อมรำไพพรรณี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯทรงรับเป็นพระราชธุระขอหม่อมเจ้ารำไพพรรณีต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

วังศุโขทัย “บ้านที่แท้จริง” ของสองพระองค์

หลังจากพิธีอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จประทับ ณ วังศุโขทัย ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ซึ่งแต่เดิมมีเพียงตำหนักไม้สองชั้นขนาดเล็ก หลังคามุงจากที่เสด็จไปประทับคลายพระอิริยาบถเป็นครั้งคราว ต่อมาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นพระบรมราชชนนีโปรดเกล้าฯ ได้สร้างตำหนักขึ้นใหม่พระราชทานเป็นเรือนหอ หม่อมเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงรับพระราชภาระดูแลกิจการภายในพระตำหนัก และทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในวิชาภาษาอังกฤษ เวลาที่ทรงว่างก็โปรดจัดดอกไม้ กรองมาลัย และทรงกีฬา เช่น แบดมินตัน เทนนิสนอกจากนี้ทั้งสองพระองค์ยังโปรดที่จะอ่านหนังสือต่างๆ ด้วย

ในเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ ประเทศฝรั่งเศส หม่อมเจ้ารำไพพรรณีพระชายาได้โดยเสด็จไปถวายการดูแลรักษาพยาบาลด้วย เมื่อทรงหายจากพระอาการประชวรแล้วได้เสด็จไปทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเสด็จประพาสประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาจึงเสด็จเข้าทรงศึกษาวิชาการทหารชั้นสูงเพิ่มเติม ณ โรงเรียนฝ่ายเสนาธิการในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทรงฝึกงานภาคสนามตามมณฑลต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมเจ้ารำไพพรรณีพระชายาได้โดยเสด็จไปประทับแรม ณ ที่ประทับแรมในชนบท และเสด็จทัศนศึกษาภูมิประเทศในบริเวณใกล้เคียงพร้อมทั้งทรงฝึกฝนภาษาฝรั่งเศสให้มีความเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก ศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ทรงสำเร็จการศึกษาและทรงรับประกาศนียบัตรนายทหารฝ่ายเสนาธิการแล้วทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จนิวัติพระนคร ในพุทธศักราช ๒๔๖๗ โดยเสด็จผ่านประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะได้ทรงมีโอกาสศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้น ๆ

หลังจากที่พระองค์เสด็จนิวัติพระนครได้ ๑ ปีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ (ในจารึกพระสุพรรณบัฎประกาศเฉลิมพระนามทรงกรมเป็น กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ในพุทธศักราช ในพุทธศักราช ๒๔๔๘ นั้น คำว่า“ศุโขทัยธรรมราชา” ใช้ “ศ” ต่อมาเมื่อทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนกรมขึ้นเป็นกรมหลวง ในพุทธศักราช ๒๔๖๘ ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ คำว่า “สุโขทัยธรรมราชา” ใช้ “ส”

ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ได้ทรงประจักษ์แจ้งความซื่อตรงจงรักของหม่อมเจ้ารำไพพรรณีอันมีต่อพระองค์ ได้ตั้งพระหฤทัยทนองพระเดชพระคุณทั้งปฏิบัติวัฎฐานในเวลาเมื่อทรงสุขสำราญ และรักษาพยาบาลในเวลาเมื่อทรงพระประชวร แม้เสด็จไปประทับอยู่ที่ทุระสถานต่างประเทศ ก็อุสาหโดยเสด็จติดตามไปมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ควรนับว่าได้เคยเป็นคู่ร่วมทุกข์สุขกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นนิรันดร จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็สมควรที่จะทรงสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณีขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี เพราะความชอบความดีซึ่งได้มีต่อพระองค์มาแต่ต้นหนหลังด้วยอีกสถาน ๑

สมเด็จพระบรมราชินีนาถในสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ หลังจากพระบาทพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙ และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณีพระวรราชชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี และสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีโดยสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายและพระราชประเพณี

ธ เสด็จนิราศสู่แดนไกล

เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทรงรับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร หลังจากนั้นได้เสด็จไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีนานาประเทศในทวีปยุโรป คือ ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี เดนมาร์ก เยอรมัน เบลเยี่ยม เชโกสโลวะเกีย และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ แล้วจึงเสด็จฯ กลับมาประทับในประเทศอังกฤษ

ในระหว่างที่ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ การเจรจาความเมืองกับรัฐบาลที่พระนคร ก็ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ารัฐบาลมิได้ฏิบัติตามพระราชปณิธานของพระองค์ที่ทรงสละพระราชอำนาจให้แก่ราษฎร มิใช่ให้แก่คณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อไม่อาจทรงขอร้องหรือทักท้วงให้รัฐบาลแก้ไขนโยบายให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำริได้แล้ว จึงทรงตัดสินพระราชทานหฤทัยสละราชสมบัติ สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ นั้นก็มิได้ทรงอาลัยในสิริราชสมบัติจนทำให้พระราชสวามีต้องทรงกังวลหรือลังเลพระราชหฤทัยเลย เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินพระราชหฤทัยในเรื่องที่สำคัญยิ่ง ดังที่ได้เคยมีพระราชดำรัสกับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ รองราชเลขานุการในพระองค์ ฯ ว่า พระองค์ทรง “เห็นพ้องต้องกันกับพระสวามีในการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชย์”

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฏรออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ประทับอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนบท และทรงใช้เวลาในการจัดสวน เลี้ยงนก เลี้ยงปลา เป็นต้น เมื่อว่างจากพระราชภารกิจก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทัศนศึกษาตามโบราณสถานต่าง ๆ ส่วนในช่วงฤดูหนาวจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับในประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป

พระราชสวามีเสด็จสู่สวรรคาลัย

ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่ง คือการถวายการพยาบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีราชพลานามัยไม่แข็งแรง และประชวรอยู่เป็นเนืองนิตย์ พระองค์จึงต้องเสด็จฯติดตามพระราชสวามีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังต้องดูแลพระตำหนักที่ประทับด้วยพระองค์เอง เพาะรัฐบาลไทยได้เรียกผู้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท กลับประเทศไทยหมด เหลือเพียงข้าราชบริพารไม่กี่คน

<>pครั้นถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ขณะประทับ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันพระหทัยวาย ขณะนั้นทรงมีพระราชชนมพรรษา ๔๘ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ ทรงจัดการเรื่อพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการภายใน ในวันที่ ๓ มิถุนายน ศกนั้น นับเป็นงานพระบรมศพที่เรียบง่ายปราศจากพระเมรุมาศ ไม่มีเสียงประโคมย่ำยาม ไม่มีแม้แต่พระสงฆ์สวดเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ซึ่งต้องทรงต่อสู่กับความโศกเศร้าโทมนัสด้วยพระขันติธรรมที่สูงยิ่ง

เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยพร้อมทั้งพระบรมอัฐิ

หลังจากเสด็จพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ยังคงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไป เพราะการคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม และเมื่อประเทศไทยจำต้องยอมประกาศสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น เป็นศัตรูโดยเปิดเผยกับอังกฤษและอเมริกาคนไทยซึ่งพำนักอยู่ในต่างประเทศจำนวนหนึ่งได้ประกาศตัวเป็นเสรีไทย ทำงานประสานกับเสรีไทยในพระนครสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้พระราชทานพระกรุณาอุดหนุนจุนเจือกิจการของเสรีไทยในประเทศอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ

ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๙๒ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสู่พระนคร พร้อมกันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายครบถ้วนตามพระราชประเพณี ก่อนอัญเชิญขึ้นสู่ประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

วังสระปทุม ที่ประทับหลังเสด็จนิวัติประเทศไทย

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากประเทศอังกฤษกลับมาสู่ประเทศไทย ในพุทธศักราช ๒๔๙๒ นั้น รัฐบาลได้ใช้พระตำหนักวังศุโขทัยเป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงสาธารณสุข สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้เชิญเสด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวังสระปทุม ระหว่างนั้นเป็นเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลปัจจุบันยังทรงพระเยาว์อยู่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ผ่อนคลายพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นอันมาก และเนื่องจากทรงมีพระราชหฤทัยที่อ่อนโยน ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงรบกวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการประทับ ณ ตำหนักวังสระปทุมนานเกินควร อีกทั้งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะประทับในต่างจังหวัดด้วยโปรดธรรมชาติและการทำสวน จึงมีพระราชดำริที่จะหาที่ดินเพื่อสร้างพระตำหนักที่ประทับสำหรับพักผ่อน พระราชอิริยาบถและทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนั้น

“สวนบ้านแก้ว” บ้านที่ทรงใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน

ในการหาที่ดินในต่างจังหวัดนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระราชดำริไว้ ๒ แห่งคือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดจันทบุรี แต่ในที่สุดแล้วทรงสนพระราชฤทัยจังหวัดจันทบุรี เพราะระยะเวลาใกล้กว่าและสามารถเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ ได้ภายในวันเดียว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พันตรี หม่อมทวีวงค์ถวัลยศักดิ์เลขาธิการสำนักพระราชวัง และหาที่ดินในจังหวัดจันทบุรี และได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่ดิน ซึ่งในระยะนั้นเส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก ต้องเสด็จฯ ไปตามถนนที่ยังไม่ได้ราดยางเป็นหลุมบ่อ เต็มไปด้วยฝุ่นละออง รถพระที่นั่งกระแทกกระเทือนไปตลอดทางในที่สุดทรงพบที่ที่ต้องพระราชหฤทัยตรงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีธรรมชาติ งดงาม เงียบสงบ ต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์ จึงทรงกู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อที่ดินสองฝั่งคลอง บ้านแก้วรวมเนื้อที่ ๖๘๗ ไร่ พระราชทานสนามสถานที่แห่งนี้ตามชื่อคลองว่า “สวนบ้านแก้ว”

ในระยะแรกนั้น สวนบ้านแก้วยังมีสภาพเป็นป่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปรับที่ดิน พร้อมกับสร้างที่ประทับชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไม้หลังเล็กขึ้น ๒ หลัง คือเรือนเทา ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ส่วนเรือนแดงเป็นที่พักของข้างหลวงผู้ติดตาม และมีเรือนอีกหนึ่งหลังสร้างแบบบังกะโลเรียกว่าเรือนเขียวเป็นที่พักของราชเลขานุการ เรือนทั้งสามหลังนี้นับเป็นอาคารชุดแรกของสวนบ้านแก้ว

พระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา)

สองปีต่อมา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักใหญ่ (พระตำหนักเทา) บนเนินที่ลาดลงไปยังหุบเขา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีทัศนียภาพสวยงาม เพื่อเป็นที่ประทับและรับรองแขก พระตำหนักเป็นอาคารแบบชั้นครึ่ง รูปทรงยุโรปทาสีเทาชั้นบนเป็นห้องบรรทมซึ่งมีที่เฉลียงที่พระองค์สามารถทอดพระเนตรทิวทัศน์งดงามของสวนบ้านแก้วได้กว้างไกล

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสินริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่สวนบ้านแก้ว การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปลูกต้นจำปาไว้ด้านข้างพระตำหนักใหญ่ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นเงาะไว้บริเวณเดียวกัน

พระตำหนักดอนแค (ตำหนักแดง)

นามพระตำหนักดอนแดง มีที่มาจากบริเวณถนนหน้าพระตำหนักปลูกต้นแค่ฝรั่งเรียงรายงดงาม จึงเรียกขานกันว่า “ดอนแค” เป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับเจ้าขุนมูลนายชั้นผู้ใหญ่และราชเลขานุการส่วนพระองค์ เป็นอาคารสองชั้นแบบยุโรปสร้างด้วยไม้สักทาสีแดง มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังตำหนัก เดิมเคยเป็นที่พักของหม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร ราชเลขานุการต่อมาเมื่อราชเลขานุการถึงแก่กรรม หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ พระขณิฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ และประทับที่พระตำหนักดอนแค สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯมาประทับกับหม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จนกระทั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังศุโขทัยเป็นการถาวร

สมเด็จฯ ผู้ทรงบุกเบิกงานเกษตร

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระราชอัธยาศัยโปรดธรรมชาติอย่างยิ่ง ระหว่างประทับ ณ สวนบ้านแก้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์ ทรงเป็นผู้จัดการ “สวนบ้านแก้ว” และพระราชทานพระราชดำริให้ปลูกพืชไร่ พืชสวนครัว และผลไม้นานาชนิดรวมทั้งสัตว์เลี้ยงพันธุ์พืชต่าง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้สวนบ้านแก้วเป็นไร่ตัวอย่างมากกว่าทำเป็นการค้า โดยทำการทดลองว่า หากปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดได้ผลดี ก็ทรงนำความรู้นั้นออกเผยแพร่ราษฎรต่อไปในระยะแรกพื้นที่สวนบ้านแก้วส่วนหนึ่งยังเป็นป่าทึบ มีที่บุกเบิกเป็นไร่บ้าง ส่วนใหญ่ยังมีสภาพรกร้าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ ทรงบุกเบิกที่เพื่อปลูกพืชไร่ เช่นถั่วลิสง นุ่น โดยมีพระราชประสงค์ให้ปลูกเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร แต่เนื่องจากพืชทั้งสองชนิดไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศของจังหวัดจันบุรี จึงทรงเปลี่ยนไปปลูกมะพร้าวแทน นอกจากนี้ ได้ทรงปลูกมันสำปะหลังเพื่อกันไม่ให้หญ้าขึ้นรก และเพื่อช่วยยึดดิน ซึ่งได้ผลผลิตดีมาก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการทำไร่ทำสวนบ้านแก้วด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ อาทิ ทรงปลูกและเก็บเมล็ดถั่วลิสงร่วมกับข้าราชการบริพารและคนงาน ตลอดจนทรงดูแลเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ บางครั้งถึงกับทรงขับรถแทรคเตอร์และตัดหญ้าด้วยพระองค์เอง

ในช่วงที่ปลูกพืชไร่นั้น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดาดร ซึ่งทรงเชี่ยวชาญด้านการเกษตรได้ถวายคำแนะนำสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ให้ทรงทดลองปลูกแตงโม แตงไทย และแคนตาลูป ประมาณ ๘ ไร่ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเฉพาะแตงโมมีผลโตและน้ำหนักเบามาก การปลูกแตงโมนั้นทรงปลูกเพื่อเสวยเองและแจกจ่ายแก่บุคคลต่างๆ มิได้นำออกขาย ออกจากพืชไร่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกผักสวนครัวและผลไม้ต่างๆ เช่น ส้มเขียวหวาน ประมาณ ๓,๐๐๐ ต้น เงาะ ลางสาด มังคุด เป็นต้นส่วนพริกไทยนั้นทรงปลูกในระยะแรกแล้วทรงเลิก เนื่องจากมิให้เป็นการกระทบต่ออาชีพของราษฎร

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ โปรดเกล้าฯ ให้สั่งไก่พันธุ์ไข่จากต่างประเทศหลายพันธุ์ จำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ ตัว เพื่อทดสอบเลี้ยง โดยฝักไข่ไก่ด้วยเครื่อง นอกจากนี้ยังทรงเลี้ยงเป็ดพันธุ์ปักกิ่ง ห่าน และวัวพันธุ์เนื้อประมาณ ๑๐๐ ตัว โดยเลี้ยงตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อช่วยในการปราบหญ้า

สวนส่วนพระองค์ ที่ประทับทรงพระสำราญ

ด้วยเหตุผลที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดการปลูกต้นไม้ ทำสวน จึงโปรดให้จัดสวนส่วนพระองค์บริเวณพื้นที่ระหว่างพระตำหนักใหญ่ และพระตำหนักดอนแคเป็นที่ประทับทรงพระสำราญส่วนพระองค์ โดยก่อกำแพงด้วยอิฐโปร่งรอบบริเวณ ภายในบริเวณสวนร่มรื่นและงดงามด้วยพันธุ์ไม้ที่ทรงโปรดปราน เช่น ลิ้นจี่ มังคุด มะปริง มะปราง มีเล้าไก่สำหรับเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ มีกรงนกขนาดใหญ่ที่สร้างคลุมต้นไม้สำหรับเลี้ยงนกนานาชนิด ด้านหลังสวนส่วนพระองค์ โปรดให้สงวนต้นใหญ่ไว้ให้สภาพเป็นป่าธรรมชาติ

พระเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดสุนัขมาก ทรงเลี้ยงไว้ ๑๒ ตัว ที่ทรงเลี้ยงไว้อย่างใกล้ชิดและติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่งในสวนบ้านแก้ว ด้วยพระราชหฤทัยที่อ่อนโยน ได้โปรดให้สร้างสระน้ำสำหรับให้สุนัขลงเล่นน้ำไว้ด้านซ้ายมือของศาลาทรงไทย ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอนแค ส่วนภายในพระตำหนักใหญ่ทรงจัดห้องเลี้ยงปลา เลี้ยงเต่า ไว้ในตู้เล็ก ๆ นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังทรงเลี้ยงหมี แต่ดุมากจึงนำไปไว้ที่สวนสัตว์ และทรงมีพระเมตตารับลูกสัตว์ที่แม่ตายมาเลี้ยงไว้ เช่น ลูกวัว ลูกเก้ง เป็นต้น

เสื่อสมเด็จ งานหัถกรรมที่ทรงพัฒนา

ระหว่างที่ประทับ ณ สวนบ้านแก้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้ทรงเริ่มพัฒนาการทอเสื่อจันทบูร ซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจังหวัดจันทบุรี ให้มีคุณภาพสีสันและรูปแบบที่งดงามขึ้น เนื่องจากทรงพบข้อบกพร่องของเสื่อจันทบูรหลายประการ เช่น สีของเสื่อมักจะตกและมีเพียงไม่กี่สี ซึ่งส่วนมากเป็นสีเข้ม เช่น เขียว เหลือ แดง เป็นต้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานทอเสื่อขึ้นในสวนบ้านแก้ว โดยสั่งซื้อกกตากแห้ง จากชาวบ้านมาเป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อและมีพระราชดำริให้ปรับปรุงคุณภาพสีที่ใช้ย้อมกก โดยมีหม่อมเจ้ากอกษัตริย์ สวัสดิวัฒน์พระอนุชาซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมีมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ช่วยค้นคว้าวิธีย้อมกกไม่ให้สีตก และคิดกรรมวิธีฟอกกกให้ขาวก่อนนำไปย้อมสี ซึ่งทำให้สามารถย้อมกกเป็นสีอื่น ๆ ได้

เช่นสีชมพู เหลืองอ่อน ขาว เป็นต้น นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังทรงออกแบบกระเป่าเสื่อให้มีรูปทรงที่ทันสมัย ลวดลายสวยงามทั้งยังส่งเสริมให้นำเสื่อกกมาผลิตเป็นของใช้ประเภทอื่น เช่น กระเป๋าเอกสาร ถาด ที่รองแก้ว ที่รองจาน กล่องใส่กระดาษเช็ดมือ ฯลฯ โดยทรงออกแบบตรวจตราคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯให้ติดเครื่องหมายการค้าเป็นรูปคนหาบกระจาด มีอักษรย่อ ส.บ.ก (สวนบ้านแก้ว) ใช้ชื่อว่า “อุสาหกรรมชาวบ้าน”ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้โรงงานทอเสื่อของพระองค์เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ด้านการประกอบอาชีพให้แก่ราษฎร

ตึกประชาธิปก จากน้ำพระทัยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

ด้วยพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รัฐบาลสมัยนั้นจึงสนองพระราชดำริโดยการปรับปรุงโรงพยาบาลให้มีขนาดใหญ่และทันสมัยยิ่งขึ้น คือขยายจากโรงพยาบาลขนาด ๕๐ เตียง เป็น ๑๕๐ เตียง พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย และได้สร้างวิทยาลัยพยาบาลเพื่อเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของภาคตะวันออกทั้งให้มีการเปลี่ยนนามโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้ทรงรับโรงพยาบาลพระปกเกล้า และวิทยาลัยไว้ในพระราชินูปถัมภ์ และได้รับระราชทานทุนในการดำเนินงานของโรงพยาบาลชื่อ “ทุนประชาธิปก” ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็น “มูลนิธิประชาธิปก” ในพุทธศักราช ๒๕๑๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า และวิทยาลัยครูจันทบุรี ในการก่อสร้างจัดซื้อวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนพยาบาลและนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทบุรีที่เรียนดี ความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เงื่อนไขสำคัญของการรับทุนคือผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนต่อไป

พระมิ่งขวัญสถาบันราชภัฎรำไพพรรณี

พุทธศักราช ๒๕๑๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังศุโขทัยเป็นการถาวร เนื่องจากทรงมีพระประยูรญาติและข้าราชบริพารส่วนใหญ่เป็นสตรี ยากที่จะตามเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด ประกอบกับพระองค์ทรงมีพระชนมายุสูงขึ้นและพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานสวนบ้านแก้ว เพื่อก่อตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี โดยทูลเกล้า ฯ ถวายเงินเพียง ๑๘ ล้านบาท สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ด้วยความเต็มเปี่ยมพระราชหฤทัย ด้วยทรงมุ่งส่งเสริมให้จังหวัดจันทบุรีได้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูง เพื่อให้มีการศึกษาแก่เยาวชนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวิทยาลัยครูจันทบุรี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ เริ่มทำการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ วิทยาลัยได้รับพระราชทานตรา “ศักดิเดชน์” ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นตราประจำวิทยาลัย และปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ วิทยาลัย และปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ วิทยาลัยครูจันทบุรีก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เป็นนามของวิทยาลัย คือ “วิทยาลัยรำไพพรรณี”

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชฯ ได้พระราชทานนามใหม่ให้แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ คือ “สถาบันราชภัฎ” วิทยาลัยรำไพพรรณีจึงได้เปลี่ยนใช้นามใหม่ว่า “สถาบันราชภัฎรำไพพรรณี” ซึ่งปฎิบัติภารกิจในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น อันต้องกับพระราชประสงค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีข้อปลอบใจข้าพเจ้าอยู่ข้อหนึ่ง คือสถานที่นี้ จะอยู่ในความอำนวยการของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งจะเปิดเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงนอกจากจะเป็นโอกาสให้เยาวชนชาวจันทบุรีได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยไม่ต้องย้ายไปอยู่ไกลบ้านแล้วยังจะชักจูงเยาวชนจากจังหวัดอื่น ให้มาศึกษาที่จังหวัดนี้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาแ

แกลลอรี่ภาพ

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระนามเดิมคือ หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
http://www.rama7.chula.ac.th/history.html
วิมลพร แก้ไขล่าสุด 2019-04-02 22:10:55

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี