บ้านเสม็ดงาม อำเภอเมืองจันทบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมพื้นบ้านการทอเสื่อจันทบูร แหล่งรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกก ซึ่งกลุ่มสตรีทอเสื่อกกบ้านเสม็ดงามเป็นผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมดังกล่าว ปกติแล้วต้นกกเป็นพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติในที่ชื้นแฉะ แต่ที่บ้านเสม็ดงามนั้นจะเลือกปลูกกกพันธุ์ต้นกลม เพราะเป็นกกที่เจริญเติบโตได้ในน้ำกร่อย มีความโดดเด่นจากกกพื้นที่อื่น คือ เส้นกกเหนียวนุ่ม ทนทาน มีเส้นเล็กละเอียด มันวาว ถือเป็นคุณสมบัติพิเศษของเสื่อจันทบูร เมื่อต้นกกยาวเต็มที่ชาวบ้านจะใช้เคียวตัดกกไปรวมกันเป็นมัด แล้วนำไปคัดแยกความยาวของต้น ซึ่งเรียกกันว่าสะบัดกก จากนั้นต้องผ่านกรรมวิธีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะได้เสื่อสวย ๆ สักผืนไว้ใช้งาน
เริ่มจากการจักกก ใช้วิธีผ่าต้นกกออกเป็นซีกตามขนาดของต้น แล้วรีดเอาไส้กกออกจนเหลือแต่ผิวกก หลังจากนั้นมัดเป็นกำ นำไปแขวนผึ่งลมหรือตากแดดจัด ๆ ให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วก็จะนำกกมาหวีเพื่อไม่ให้เส้นกกติดกัน เมื่อหวีกกเสร็จก็นำไปแช่น้ำประมาณ ๑ คืน ก่อนจะย้อมสีในน้ำเดือดประมาณ ๒ รอบเพื่อให้สีติดทนนาน หลังจากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็นกันสีลอก นำกกขึ้นแขวนราวไม้ไผ่ ตากแดดและลมทิ้งไว้เพื่อให้เส้นกกคืนตัว เมื่อเส้นกกแห้งสนิทแล้วก็เก็บไว้ใช้ทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
นอกจากกกแล้ว ที่บ้านเสม็ดงามยังปลูกปอไว้ใช้เป็นส่วนประกอบในการทอร่วมกับกกอีกเช่นกัน เมื่อต้นปอมีขนาดพอใช้งานได้จะไม่ใช้วิธีตัดเหมือนกับกก แต่จะถอนออกมาทั้งรากแล้วนำไปลอกเปลือกออก ขูดผิวปอให้สะอาด ตากให้แห้ง ฉีกปอเป็นเส้นเล็ก ๆก่อนนำไปย้อมสีเช่นเดียวกับกก แต่ต้องย้อมประมาณ ๓ รอบ เพราะปอจะย้อมสีติดยากกว่ากก หลังจากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็นเพื่อป้องกันสีหลุดลอกเวลาทอ ตากแดดตากลมจนแห้ง แล้วนำไปปั่นให้เป็นเส้นกลม ๆ เล็ก ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเส้นยืนของเสื่อ หรืออาจนำไปทอผสมกับกก เพราะปอมีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน หรือจะใช้ฟั่นริมเสื่อเพื่อความสวยงามก็ได้เช่นกัน ที่บอกเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการแบบคร่าว ๆ ที่กว่าชาวบ้านเสม็ดงามจะได้ปอและกกแต่ละเส้นมาทำผลิตภัณฑ์ให้เราได้ใช้กันก็ต้องใช้เวลาและความอดทนอยู่ไม่น้อย