ตำนานสิงโตคู่ที่แหลมสิงห์ มีที่มาจากภูเขาลูกหนึ่งชื่อ "เขาแหลมสิงห์" ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจันทบุรี การที่เรียกชื่อเขาลูกนี้ว่าเขาแหลมสิงห์นั้นเพราะด้านหน้าเขามีหินเป็นแก่งเกาะยื่นล้ำออกไปในทะเล และในบรรดาก้อนหินเหล่านี้ มีอยู่ 2 ก้อนลักษณะคล้ายตัวสิงโต มีหัว มีลำตัว มีหาง มีเท้า และดวงตา มีขนาดลำตัวยาว 6 เมตร กว้าง 1.5 เมตร สูงจากพื้นน้ำทะเล 2.5 เมตร ยืนคู่กันล้ำเข้าไปในทะเล สิงโตคู่นี้เป็นที่สักการะนับถืออย่างยิ่งของชาวประมง คำโบราณปรัมปราเล่าว่าเมื่อก่อนนี้ไม่มีสิงโตคู่นี้ แต่กล่าวกันว่าบนเขาแหลมสิงห์มีสิงโตจริงๆ อยู่คู่หนึ่ง สิงโตตัวผู้ตัวเมียคู่นี้ไปไหนด้วยกันเสมอ และลงอาบน้ำทะเลด้วยกันทุกวัน ต่อมาฝรั่งเศสพวกหนึ่งคอยดักทำร้ายสิงโตนี้ โดยใช้วัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง สิงโตตัวหนึ่งถึงแก่ความตาย อีกตัวหนึ่งวิ่งหนีลงทะเลทัน ตัวที่หนีลงทะเลไปนั้น เมื่อตายในน้ำแล้วก็มากลายรูปเป็นสิงโตศิลายืนหยัดอยู่ริมทะเล ส่วนตัวที่ถูกยิงตายอยู่ที่ริมฝั่งทะเล เหลือเพียงแต่ซากหินปรักหักพังยืนข้างศิลาตัวใหญ่ พอจะจับสังเกตเป็นเค้าได้ มีแววเป็นรูปสิงโตได้บ้าง หินสิงโตนี้ใช้เป็นจุดสังเกตสำหรับเรือเดินทะเลมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว กล่าวไว้ในจดหมายเหตุเมื่อครั้งราชวงศ์สุ่ย เดินทางออกจากกวางตุ้งไปยังเมืองซิตู้ ซึ่งเข้าใจว่าอยู่ทางภาคใต้บนคาบสมุทรไทย โดยหลังจากเรือผ่านหินรูปสิงห์ไปได้สองสามวันก็จะเห็นทิวเขาในเขตแคว้นหลั่งยะสิ่ว ซึ่งน่าจะหมายถึงเมืองใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อจากนั้นก็วกเรือลงมาทางใต้ผ่านเกาะรังไก่ไปยังแคว้นซิตู้ โขดหินรูปสิงห์นี้เป็นที่รู้จักกันต่อมาจนกระทั่งในยุคที่ชาวตะวันตกเข้ามาแสดงหาอาณานิคม ต่อมามีนายทหารเรือของฝรั่งเศสทดลองความแม่นปืนด้วยการใช้ปืนเรือยิงหัวสิงห์กระเด็นตกน้ำไป ทำให้รูปสิงห์ที่เห็นอยู่นี้ขาดความสมบูรณ์แต่ดั้งเดิมไป
หาดแหลมสิงห์ ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โดยห่างจากตัวเมืองราวๆ 30 กิโลเมตร การเดินทางสามารถเดินทางไปตามถนนสุขุมวิท ในเส้นทางที่มุ่งหน้าที่ยังจังหวัดตราด ประมาณกิโลเมตรที่ 347 จะมีทางแยกด้านขวามือไปยังหาดแหลมสิงห์อีกประมาณ 16 กิโลเมตร บรรยากาศร่มรื่นด้วยทิวสนยาวไปตามแนวของชายหาด มีที่นั่งพักผ่อนพร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวตั้งเรียงรายอยู่ริมหาด