ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี "ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน"

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน มีสังคมของพรรณไม้กระจายตามลักษณะภูมิประเทศจากริมอ่าวจนถึงรอยต่อของพื้นที่ป่าบก โดยแยกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ริมอ่าวด้านทิศใต้ ลักษณะเป็นดินทรายและเปลือกหอยปะปนอยู่มาก มีไม้แสมขาว แสมทะเล ลำพูทะเล เป็นไม้เด่น ส่วนด้านทิศเหนือมีลักษณะเป็นดินเลนค่อนข้างลึก มีไม้โกงกางใบเล็กอันเป็นพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ของป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ขึ้นครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด พื้นที่สันทรายริมชายฝั่ง มีพรรณไม้ที่สามารถขึ้นอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างสูง มีน้ำทะเลท่วมถึงไม่บ่อยนัก ได้แก่ ตาตุ่มทะเล โปรงแดง ฯลฯ พื้นที่ดอน พบพรรณไม้ เช่น ฝาดดอกแดง ฝาดดอกขาว ขึ้นอยู่หนาแน่น พรรณไม้พื้นล่างมีปรงทะเลและเหงือกปลาหมอ พื้นที่รอยต่อป่าบก เป็นพื้นที่สูง น้ำทะเลท่วมน้อยครั้ง พรรณไม้มีลักษณะคล้ายป่าพรุ ได้แก่ เตยทะเล เม็ดแดง และรักทะเล ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างพบปรงชนิดต่างๆ เหงือกปลาหมอ ฯลฯ

จากการสำรวจพบพรรณไม้ป่าชายเลนที่สำคัญๆ ในอ่าวคุ้งกระเบนจำนวน 25 ชนิด นก 24 ชนิด ปลา 25 ชนิด กุ้ง 4 ชนิด ปู 9 ชนิด และหอย 11 ชนิด ในอดีต บริเวณอ่าวบ้านหัวแหลมยังเคยเป็นแหล่งอาศัยของพะยูน แต่เมื่อชายฝั่งทะเลถูกบุกรุกทำลาย หญ้าทะเลจึงเริ่มหมดไปจากพื้นที่ เหลือเพียงรายงานการพบพะยูนครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2533

ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยงานป่าไม้ เป็นผู้สำรวจและออกแบบก่อสร้าง ตัวสะพานทางเดินสร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง (Hopea odorata) มีความยาวทั้งสิ้น 1,433 เมตร และยังมีส่วนที่เป็นทางเดินปูด้วยแผ่นหินทรายยาว 363 เมตร รวมเป็นระยะทางเดินศึกษาธรรมชาติทั้งสิ้น 1,793 เมตร จุดเริ่มต้นซุ้มประตูศาลาทางเข้าอยู่บริเวณ ด้านทิศใต้ของอ่าวคุ้งกระเบน ห่างจากสำนักงานอาคารศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ฝั่งตรงข้าม ถนนเพียง 200 เมตร เส้นทางเดินของสะพาน จะผ่านบริเวณสังคมพืชไม้เบิกนำจำพวกไม้แสม ไม้ลำพู แปลงเพาะชำกล้าไม้ แปลงปลูกป่าไม้โกงกาง แปลงศึกษาวิจัย ข้ามสะพานแขวนไปสู่ป่าธรรมชาติ ที่มีไม้โกงกางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นสมบูรณ์ จากนั้นสะพานจะวกกลับผ่าน แปลงทดลองการปลูกป่าชายเลนผสมผสานกับการเลี้ยงปลา ผ่านบ่อทดลองการเลี้ยงกุ้งทะเล ที่มีการรักษาสภาพแวดล้อมโดยระบบชลประทานน้ำเค็ม และไปสิ้นสุดที่ศาลาเชิงทรงซึ่งอธิบายลักษณะของพื้นที่และพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ระหว่างรอยต่อป่าชายเลนและป่าบก

บริเวณสะพานทางเดินได้จัดสร้างศาลาสื่อความหมายธรรมชาติ (Nature Interpretation) และระเบียงหยุดพักชมธรรมชาติเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาหาความรู้เรื่องราวของป่าชายเลนบนบอร์ดนิทรรศการ พร้อมกับดูตัวอย่างจากของจริงบริเวณรอบ ๆ ศาลา จำนวนทั้งสิ้น 10 ศาลาดังนี้

ศาลาที่ 1 กำเนิดอ่าวคุ้งกระเบน การกำเนิดของอ่าวคุ้งกระเบนและป่าชายเลน

ศาลา 2 ไม้เบิกนำ ไม้เบิกนำ เป็นเรื่องของต้นไม้ที่เป็นเหมือนทัพหน้า ได้แก่ ไม้แสม และไม้ลำพู เป็นพืชตัวเบิกทางที่ขึ้นมาก่อนพืช ชนิดอื่นเป็นการเตรียมพื้นที่สำหรับต้นไม้อื่นๆ เพื่อให้เกิดการสะสมตะกอน ดินเลน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับต้นโกงกางใบเล็กโกงกาง ใบใหญ่ และพืชชนิดอื่นๆ ที่จะขึ้นตามมา

ศาลา 3 ดงฝาด เป็นเรื่องระบบการสืบพันธุ์ และระบบรากของต้นไม้ในป่าชายเลน พืชที่อาศัยอยู่ในดินที่มีน้ำขังตลอด ออกซิเจน ในดินน้อย ทำให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีลักษณะรากพิเศษในแบบต่างๆ เช่น

- รากค้ำยัน (Stilt Roots) มีรากโผล่พ้นดิน ลักษณะคล้ายสะพานโค้ง เช่น ไม้โกงกาง - รากหายใจ (Pneumatophores) มีลักษณะเป็นแท่งแหลมๆ โผล่ขึ้นมาจากดิน ลักษณะคล้ายดินสอปักอยู่ เช่น ไม้แสม ลำพู - รากหายใจรูปร่างคล้ายเข่า (Knee Roots) มีลักษณะเป็นก้อนๆ ปุ่มๆ โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ เช่น ต้นฝาด โปรง - รากพูพอน (Buttress Roots) มีลักษณะกางออกมาในแนวตั้ง เหมือนปีกของต้นไม้ อยู่บริเวณโคนต้น เช่นรากตะบูน ตะบัน

ศาลา 4 ป่าปลูก เป็นเรื่องการปลูกต้นไม้ป่าชายเลน ห่วงโซ่อาหาร และระบบการพึ่งพาในธรรมชาติของป่าชายเลน

ศาลา 5 ปู่แสม ต้นไม้ผู้สร้างแผ่นดินเป็นจุดที่มีต้นแสมขาว อายุนับร้อยปี (จึงเรียกว่า "ปู่") และได้เห็นเรื่องวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และการหาผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในบริเวณป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

ศาลา 6 โกงกาง เป็นเรื่องประโยชน์และความสำคัญของไม้โกงกาง ที่นอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้ว ยังใช้ทำถ่านที่มีคุณภาพสูง เพราะให้ความร้อนสูง ติดไฟง่าย ไม่แตกปะทุ ควันไฟน้อย คุเป็นถ่านไฟได้นานจึงได้ราคาสูงกว่าถ่านไม้อื่น

ศาลา 7 ป่าไม้ ประมงเป็นเรื่องการปลูกป่าชายเลนควบคู่กับการเลี้ยงปลากระพงขาว

ศาลา 8 ลำพู เป็นเรื่องของไม้ในวงศ์ลำพู และความสัมพันธ์กับหิ่งห้อย

ศาลา 9 ประมง เป็นการอธิบายการเลี้ยงกุ้งแบบรักษาสภาพแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ และระบบชลประทานน้ำเค็ม

ศาลา 10 เชิงทรง เป็นเรื่องของระบบนิเวศวิทยา พื้นที่รอยต่อระหว่างป่าบกกับป่าชายเลน เช่น ต้นเตยทะเล

มีหอดูนกให้ขึ้นชมบรรยากาศด้านบนกันสูงประมาณ 15 เมตรมองลงมารอบๆจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของอ่าวคุ้งกระเบน เดินขึ้นก็ให้ระมัดระวัง

ตั้งอยู่ที่

ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ใกล้หาดแหลมเสด็จ

เวลาเปิด-ปิด

เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 – 18.30 น. เข้าชมฟรี เปิดทุกวัน

การเดินทาง

อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี ประมาณ29กิโลเมตร

แกลลอรี่ภาพ

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยงานป่าไม้
แหล่งศึกษาธรรมชาติ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ตำบล คลองขุด อำเภอ ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22120
0-3943-3216-8
0-3943-3209
ป่าชายเลน อ่าวคุ้งกระเบน โครงการพระราชดำริ ศึกษาธรรมชาติ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2556). ทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย ชุดภาคกลางและภาคตะวันออก : จันทบุรี. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
จตุพร พุทธิศา แก้ไขล่าสุด 2019-03-20 11:01:03
พิกัดสถานที่ : 12.5703606, 101.8984697
พิกัดสถานที่ : 12.5703606, 101.8984697 หมายเหตุ การเดินทางเริ่มต้นจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
น้ำตกตรอกนอง
น้ำตกตรอกนอง
น้ำตกคลองนารายณ์
น้ำตกคลองนารายณ์
น้ำตกมะกอก
น้ำตกมะกอก
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้งกระเบน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้งกระเบน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ลานหินสีชมพู
ลานหินสีชมพู

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

วังสวนบ้านแก้ว
วังสวนบ้านแก้ว
น้ำตกกระทิง
น้ำตกกระทิง
จุดชมวิวเนินนางพญา
จุดชมวิวเนินนางพญา
น้ำตกเขาสอยดาว
น้ำตกเขาสอยดาว