วัดตะปอนน้อยตั้งอยู่ริมทางหลวงชนบทหมายเลข ๗๐๒๑ หมู่ ๓ บ้านตะปอนน้อย ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
วัดตะปอนน้อยมีชื่อเป็นทางการว่าวัดอินทราราม แต่ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อเดิมมากกว่า วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจันทบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อไรและใครเป็นผู้สร้าง แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของอุโบสถหลังเก่า สันนิษฐานว่าวัดตะปอนน้อยน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หลายคนเชื่อว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ให้อัญเชิญรอยพระบาท ๔ รอยจำลองซึ่งประทับไว้บนผืนผ้ากว้างประมาณ ๕ ศอก ยาว ๒๑ ศอกจากวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานีขึ้นมาไว้ที่นี่ คนในสมัยนั้นเชื่อกันว่ารอยพระบาทนี้สามารถขจัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ระบาดอยู่ได้ หลังวันสงกรานต์ จึงมีการแห่รอยพระบาทจำลองไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ใช้เวลาทั้งสิ้นรวม ๑ เดือน ซึ่งเป็นประเพณีที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่จนทุกวันนี้
นอกจากอุโบสถเก่าอายุกว่า ๒๐๐ ปีและพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอยุธยาตอนปลายซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” แล้ว วัดตะปอนน้อยยังเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ใบลาน ตู้พระธรรมไม้ เจดีย์จำลองทำด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองศิลปะรัตนโกสินทร์ ใบเสมาหินสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งมีจารึก ๓ บรรทัด รวมทั้งองค์ประกอบของหอไตรกลางน้ำซึ่งพังลงมาหมดแล้ว แต่ทางวัดยังเก็บชิ้นส่วนไม้แกะสลักต่างๆ ไว้ใต้ถุนศาลาการเปรียญเกือบครบทั้งหลัง
วัดนี้ กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ที่ตั้งภาพจิตรกรรม: ในอุโบสถหลังเก่า
ภาพส่วนใหญ่ลบเลือนแต่พอดูออกว่าบริเวณเหนือหน้าต่างและประตูเขียนเรื่องทศชาติ มีรามเกียรติ์แทรกอยู่เหนือประตูด้านข้างระหว่างเนมิราชกับมโหสถ บนเสาที่อยู่ระหว่างหน้าต่างและประตูเขียนภาพคนต่างชาติ บริเวณใต้หน้าต่างเขียนลายไทย คอสองวาดภาพเทพชุมนุม ส่วนบนเพดานก็เขียนวิมานและลวดลายต่างๆ ส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดคือเรื่องมโหสถซึ่งจิตรกรให้ความสำคัญโดยวาดเต็มผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานและเดินเรื่องตั้งแต่มโหสถยังเด็กจนถึงตอนท้ายของชีวิตในขณะที่ชาติอื่นเขียนเพียงแค่ไม่กี่ฉาก