ในปี พ.ศ. 2541 จังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้แจ้งว่า พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง ท้องที่ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี มีความเหมาะสมในการที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเป็นป่าดงดิบในพื้นที่ราบที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ อยู่ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการบุรกรุกทำลาย และเป็นป่าดงดิบในที่ราบที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด เหมาะแก่การศึกษาและท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไป สมควรกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป และเป็นการสนองพระราชดำริในการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก)
ต่อมากรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1151/2543 ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ว่ามีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่ ซึ่ง นายชัยณรงค์ จันทรศาลทูล นักวิชาการป่าไม้ 7 ว นายอุดมศักดิ์ สุพรรณพงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารป่าไม้ 6 และนายศุภโชค เต็มสอาด เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดจันทบุรี ได้รายงานว่า ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่องตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 75,000 ไร่ หรือ 120 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเด่น คือ ป่าดิบชื้นในพื้นที่ราบหรือป่าลุ่มต่ำ มีน้ำตก มีวิวทิวทัศน์สวยงาม มีความหลากหลายทางชีวภาพ เหมาะแก่การท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ หรือศึกษาวิจัยทางวิชาการ และมีขนาดพื้นที่พอเหมาะ มีศักยภาพเพียงพอต่อการกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงแต่งตั้งให้ นายวินัย โสมณวัตร์ นักวิชาการป่าไม้ 7 ว ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น”
ร้านค้าสวัสดิการ ไม่มีร้านค้าร้านอาหาร นักท่องเที่ยวควรเตรียมไปอง
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ขช.1 (เขาหินขวาก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ขช.2 (อ่างสีเสียด)
สภาพภูมิประเทศของป่าขุนซ่องนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลูกคลื่นลอนลาด ซึ่งจัดเป็นที่ราบต่ำที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่เป็นภูเขาสูงติดต่อกันเป็นเทือกยาวลงมาจากเหนือจดใต้ ทางด้านตะวันออกเป็นแนวขนานขยายถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว มียอดเขาสูงสุด คือ ยอดเขาสิบห้าชั้น มีความสูง 802 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในตอนกลางของพื้นที่จะมีภูเขาลูกต่ำๆ คือ เขาสะท้อน ทางตอนใต้ของพื้นที่มีเขาสะบ้า ด้านทิศเหนือติดต่อเข้าไปเป็นผืนป่าเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตลอดผืนป่าแห่งนี้จะมีลำคลองหลายสาย คลองที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ คือ คลองโตนด จัดเป็นคลองที่กว้างและลึก มีความยาวเกือบตลอดพื้นที่จากด้านทิศเหนือไหลมาออกทางด้านทิศตะวันตก มีน้ำไหลปริมาณมาก ทางด้านทิศเหนือจะมีคลองทราย นอกจากนั้นยังมีลำคลองอื่นๆ ที่เป็นลำน้ำที่มาจากคลองโตนด ได้แก่ คลองดินสอ คลองไทร คลองคต คลองอีเกก คลองน้ำเป็น คลองสะบ้า คลองยาง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทย จึงทำให้มีลักษณะของฤดูกาลที่เด่นชัดทั้งสามฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูกาลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง เดือนที่มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุดคือเดือนมกราคม ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม และเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวที่สุดในรอบปี และฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนกลางเดือนตุลาคม เป็นระยะที่มีมรสุดตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตลอดฤดูฝน มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 3,059 มิลลิเมตร เดือนที่มีฝนตกชุกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส
สภาพป่าของป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง เป็นป่าที่เคยผ่านการสัมปทานทำไม้มาแล้ว ซึ่งจากการสำรวจพบชนิดป่าทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ 1) ป่าดิบชื้น พบบริเวณที่ลุ่มหุบเขาและเชิงเขา เป็นป่าที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา เนื่องจากมีพรรณไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลายชนิด พืชพื้นล่างได้แก่ ระกำ หวายสกุลต่างๆ และเร่ว 2) ป่าดิบแล้ง ในพื้นที่จะมีป่าดิบแล้งปริมาณน้อยกว่าป่าดิบชื้น พบบริเวณเชิงเขา โครงสร้างของสังคมพืช แบ่งได้เป็น 4 ชั้นคือ ไม้ชั้นบน ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นล่าง และไม้พื้นล่าง 3) ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่พบน้อยมาก พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ กราด กระโดน ส้าน เต็ง พะยอม รัง และแสลงใจ เป็นต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่ หญ้าคา กระเจียว หญ้าคมบาง และหญ้าขจรจบ สัตว์ป่าที่สำคัญในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า เก้ง วัวแดง กระทิง เสือ หมี และสัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกกระสาคอขาว ไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ฟ้าหลังขาว เป็นต้น
รถยนต์ การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สายบางนา-ตราด) แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 (สายชลบุรี-บ้านบึง) ไปยังอำเภอแก่งหางแมว ประมาณ 240 กิโลเมตร จากอำเภอแก่งหางแมวไปถึงตำบลขุนซ่อง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 250 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางหลวงหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 แล้วแยกเข้าสายวังจันทร์-หนองเจ๊กสร้อย มุ่งหน้าสู่อำเภอแก่งหางแมว ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร และจากอำเภอแก่งหางแมวถึงตำบลขุนซ่อง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 210 กิโลเมตร
เด็ก ชาวไทย 10
เด็ก ชาวต่างชาติ 50
ผู้ใหญ่ ชาวไทย 20
ผู้ใหญ่ ชาวต่างงชาติ 100