จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 223 กิโลเมตร มีเนื้อที่โดยรวม
ประมาณ 6,338 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,961,250 ไร่ ทิศเหนือติดจังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว
ทิศใต้ติดจังหวัดตราด และอ่าวไทย ทิศตะวันออกติดจังหวัด ตราด และประเทศกัมพูชา ส่วนทิศตะวันตกติดจังหวัดระยองและอ่าวไทย ภูมิอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดจันทบุรี มีฝนตกชุกนานประมาณปีละ 5 เดือน มีปริมาณน้ำฝนวัดได้ 3,504 มิลลิเมตร
จังหวัดจันทบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 76 ตำบล 721 หมู่บ้าน การปกครองท้องถิ่นประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบลมีประชากรทั้งสิ้น 511,587 คน มีความหนาแน่นของประชากร 79.09 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร
ด้านการเกษตร จังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด จำนวน 2,054,326 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51.86 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยพื้นที่ร้อยละ 73 ของพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ของจังหวัดจันทบุรี คือ ทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและทำรายได้ให้กับจังหวัดมากที่สุด โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 279,923 ไร่ มากที่สุดในภาค ตะวันออก และเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รองลงมา คือ เงาะ มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 193,596 ไร่ และมังคุดมีพื้นที่ปลูก 85,906 ไร่
การค้าของจังหวัดจันทบุรี จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่าย เนื่องจากพื้นที่เหมาะสม กับการทำเกษตร การปลูกพืชสวน ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชไร่ ลักษณะการค้าส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม
จากการที่จังหวัดจันทบุรี มีเขตแดนติดกับประเทศกัมพูชา จึงทำให้มีการค้าชายแดนบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาผ่านทางด้านศุลกากรจันทบุรี ตั้งแต่ปี 2535-2547 (มีนาคม 2547) มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,338.86 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 5,986.59 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 2,352.27 ล้านบาท ดุลการค้าเกินดุล 3,634.32 ล้านบาท
สินค้าส่งออกกัมพูชาที่สำคัญของไทย คือ สินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซินพิเศษออกเทน 95 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว , น้ำมันเบนซินธรรมดา ออกเทน 91 เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำตาลทราย นมข้นหวานแปลงไขมัน และสินค้าเครื่องดื่ม ได้แก่ เบียร์ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำผลไม้ ส่วนสินค้านำเข้าจากกัมพูชา คือ สินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ไม้ไผ่ลำ สินค้าหนังและผลิตภัณฑ์จากหนัง ได้แก่ หนังโคหมักเกลือและสินค้าประมง
จังหวัดจันทบุรี มีศักยภาพหลายประการที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนา ได้แก่
1. ด้านทำเลที่ตั้ง เป็นจังหวัดที่ติดต่อเชื่อมโยงกับฐานอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศ เอื้อต่อการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้า การส่งออกภายในประเทศ และระหว่างประเทศ
2. ศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เน้นจังหวัดที่มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับ เกษตรกรรมทุกด้าน เป็นแหล่งผลิตแร่รัตนชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีทรัพยากร ชายหาด ภูเขา น้ำตกที่สวยงาม รวมทั้งเป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมาย มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
3. ศักยภาพด้านโครงสร้างทางกายภาพ เป็นจังหวัดที่มีระบบการคมนาคมทางบกเชื่อมโยงกับ ฐานเศรษฐกิจของประเทศและประเทศแถบอินโดจีน มีระบบสาธารณูปโภคพร้อมเพรียง
4. ศักยภาพด้านการศึกษาและสาธารณสุข เป็นจังหวัดที่มีระบบการศึกษาและสาธารณสุขอยู่ในระดับสูงกว่า เกณฑ์มาตรฐาน มีสถาบันการศึกษาที่สำคัญหลายแห่ง มีพืชสมุนไพรหลากหลาย
5. ศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต เป็นจังหวัดที่มีระบบการศึกษาอยู่ในเกณฑ์สูง การพัฒนาฝีมือแรงงานจึงมีปัญหาน้อยกว่าจังหวัดอื่น ราคาที่ดินอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง วัตถุดิบประเภท ผลไม้ ยางพารา และอาหารทะเลมีศักยภาพในการผลิตสูง สำหรับแร่รัตนชาติ ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีวัตถุดิบน้อย แต่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ ประกอบกับแรงงานของจังหวัด มีศักยภาพในการเจียระไนพลอย จึงเป็นจังหวัดที่เหมาะสมสามารถเป็นศูนย์กลางอัญมณีแห่งชาติรองจากกรุงเทพมหานคร
6. ศักยภาพทางด้านผลผลิตและสินค้าพื้นเมือง เป็นจังหวัดที่มีสินค้าพื้นเมืองที่หลากหลาย เช่น เสื่อกก ผลิตภัณฑ์จังหวัดจันทบุรีจากกกมีผลไม้ที่หลากหลาย มีอัญมณีที่มีชื่อเสียง มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย มีผลผลิตจากเกษตรกรรมทุกด้าน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว ของประเทศและของโลก
วิสัยทัศน์ของจังหวัด
"เป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกผลไม้ ดินแดนท่องเที่ยวหลากหลาย เมืองเศรษฐกิจชายแดน" (ราชันแห่งอัญมณีราชินีแห่งผลไม้ ประมงมากมาย ท่องเที่ยวค้าขายชายแดน)