อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เป็นอู่ต่อเรือเมื่อครั้งเตรียมยกทัพไปตีพม่าเพื่อกู้เอกราชในปี 2310 เมื่อหน่วยโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดค้นซากเรือและตรวจสอบชั้นดินทางโบราณคดีตามริมฝั่งอ่าว พบแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะคล้ายอู่เรืออยู่หลายแห่ง พร้อมทั้งส่วนประกอบต่างๆ ของเรือโบราณ ซึ่งสัมพันธ์กับพระราชพงศาวดารธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาส (เจิม) บันทึกไว้ความว่า ก่อนที่พระเจ้าตากจะยกทัพไปตีพม่า ได้ต่อเรือประมาณร้อยลำที่เมืองจันท์ โดยเฉพาะบริเวณวัดเสม็ดงามซึ่งอยู่ไม่ไกล นอกจากนี้ยังมีการพบตอไม้ตะเคียนทองอันเป็นวัสดุหลักที่คนโบราณนิยมใช้ต่อเรือเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ที่อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินมีโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ เรือเสม็ดงาม เป็นเรือสำเภาท้ายตัด หรือเรือฟูเจี้ยน ทำด้วยไม้ ยาว 24 เมตร กว้าง 7-8 เมตร มีร่องรอยการตอกหมันและยาชัน ภายในเรือพบเศษภาชนะ เชือกป่าน ขวานเหล็ก และถ้วยชามจีนคุณภาพต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นเรือสำเภาที่ต่อขึ้นในจีนใช้แล่นค้าขายอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลอ่าวไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ปัจจุบันเรือลำนี้อยู่ในแอ่งเพื่อรักษาสภาพเรือไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นตัวเรือ แต่กำลังมีการพัฒนาให้น้ำใสเพื่อมองให้เห็นตัวเรือได้