สละเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ อุดมด้วยสารอาหารหลายชนิด ได้แก่ กรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารอื่นๆ มีสรรพคุณบำรุงกระดูก และฟัน ช่วยขับเสมหะ และแก้เลือดกำเดา สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น สละลอยแก้ว น้ำสละ สละกวน ไวน์สละ และ น้ำพริกสละ แต่ที่นิยมมากที่สุด คือ สละลอยแก้ว
สละ (Sala) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Salacca edulis Reinw จัดเป็นพืชในสกุลระกำ (Salacca) มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย พบมากในจีน ไทย พม่า มาเลเชีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นพืชประจำถิ่นในแถบพื้นที่ติดทะเลจึงพบเห็นได้มากแถวจังหวัดที่ติดทะเล
รากสละเป็นระบบรากฝอยอย่างเดียวเหมือนกับพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอื่นๆ รากจะแตกออกจากบริเวณโคนเหง้าเหนือดิน เพื่อเป็นรากค้ำยันหรือที่เรียกว่ารากอากาศ ส่วนรากส่วนมากจะแตกออกจากเหง้าใต้ดินแทงออกในแนวขนานกับดินยาวได้มากกว่า 2 เมตร
ใบประกอบด้วยใบย่อยที่แตกออกจากก้านใบ คล้ายใบมะพร้าว ยาวประมาณ 2-3 เมตร ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบอ่อนที่แตกออกจากยอดใหม่จะห่อรวมกัน เรียกว่า ใบรูปหอก ที่แทงออกจากกลางยอด เมื่อแก่จะแผ่คลี่ออกเป็นใบ และใบย่อย ใบมีลักษณะอ่อน และลู่มากกว่าใบระกำ ปลายใบมีหนามขนาดเล็กที่ขอบใบ ใบมีลักษณะโค้งลงบริเวณกลางใบจนถึงปลายใบ ส่วนบนมีลักษณะเว้าลงเป็นร่อง ก้านใบแตกออกบริเวณแกนลำต้นจะมีหนามแหลมจำนวนมากทั่วลำก้าน ก้านใบที่แก่ และเหี่ยวตายจะไม่ร่วงหลุดออกจากต้น แต่จะค่อยๆกรอบผุไปเรื่อยๆ
ช่อดอกแทงออกจากกาบใบหรือระหว่างชั้นของโคนกาบใบ มีลักษณะยาวอ่อนลู่ลงสู่ดินหรือทอดนอนตามพื้นดิน เรียกว่า ทะลายดอก ช่อดอกออกจะมีกาบหุ้ม และคลี่ออกเมื่อดอกแก่ แต่กาบดอกยังติดอยู่ที่ช่อดอก ทะลายดอกประกอบด้วยช่อดอก แต่ละทะลายจะมีช่อดอกประมาณ 3-15 ช่อดอก ในช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ไม่มีก้านดอก ดอกติดกับแกนช่อดอกแน่น โดย 1 ช่อดอกจะนับเป็น 1 กระปุกผล ระยะการบานของดอกประมาณ 3 วัน สละ 1 ต้น จะให้ทะลายดอกประมาณ 9-12 ทะลาย
ช่อดอกสละแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ช่อดอกต้นเพศผู้ และช่อดอกต้นเพศเมีย ช่อดอกต้นเพศผู้จะประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกประกอบด้วยกลีบรอง และกลีบดอกสีแดง อย่างละ 3 กลีบ มีจำนวนเกสรเพศผู้ประมาณ 6 อัน ทำหน้าที่ผลิตละอองเรณู ถือเป็นดอกที่ไม่มีเกสรเพสเมีย
ช่อดอกต้นเพศเมีย ประกอบด้วยดอกเพศสมบูรณ์เพศ และดอกเพศผู้ ดอกสมบูรณ์เพศ (Hermaphrodite flower) ประกอบด้วยเกสรเพศเมีย และเกสรเพศผู้มีกลีบรอง และกลีบดอกอย่างละ 3 กลีบ กลีบรองดอกมีสีชมพู กลีบดอกมีสีแดง รังไข่มีสีน้ำตาลปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่ม เกสรเพศผู้มีประมาณ 5-6 อัน แต่ไม่สามารถผลิตละอองเรณูได้ ต้องอาศัยเกสรตัวผู้จากช่อดอกต้นเพศผู้
ดอกเพศผู้ (Stamiate flower) มีลักษณะเหมือนกับดอกจากดอกต้นเพศผู้ เกสรเพศผู้มีประมาณ 5-6 อัน เป็นดอกเพศผู้ที่ไม่สามารถผลิตละอองเรณูได้
1. สละหม้อ
ในอดีตพบประวัติการปลูกแถววัดไทร วัดดอกไม้ และวัดด่าน ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร (ถนนพระราม 3) มีลักษณะทางใบเล็กกว่าระกำ ใบสั้น ผลยาวกว่าระกำ ก้นผลมีจะงอย สีเปลือกเข้มสีน้ำตาลแดง ให้รสหวานกว่าระกำ เนื้อหนา ฉํ่านํ้า เมล็ดสีเหลืองอ่อนกว่าเมล็ดระกำ ทะลายหนึ่งมีประมาณ 5-8 กระปุก ผลมี 2-3 กลีบ เช่นเดียวกับระกำ ปัจจุบันมีการปลูกในบางจังหวัด เช่น เพชรบูรณ์
2. สละเสน
เป็นพันธุ์ที่ไม่พบแล้วในปัจจุบัน และคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ลำต้นมีลักษณะขึ้นเป็นกอเช่นเดียวกับระกำ แตกกอมาก โตเร็ว ผลสีแดงสด เนื้อบาง มีความหวานน้อยกว่าสละอีก 2 พันธุ์
3. สละเนินวง
เป็นพันธุ์สละที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของ ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี มีประวัติปลูกกันมานาน 100 กว่าปีแล้ว โดยผู้ปลูกคนแรก ชื่อ นางมิ ที่ได้นำเมล็ดมาจากกรุงเทพฯ (คาดว่าเป็นสละหม้อ) สละเนินวงมีลำต้นอยู่ใต้ดินหรือโผล่ขึ้นบนผิวดิน เล็กน้อยที่หุ้มด้วยกาบใบ การกระจายพันธุ์มีลักษณะขึ้นเป็นกอกระจายตัวไม่แน่น (คล้ายระกำ ) ใบยาว และอ่อนลู่มากกว่าระกำ แต่มีรูปร่างคล้ายกัน ออกผลเป็นทะลาย หนึ่งทะลายมี 3-7 กระปุก ผลอ่อนมีสีนํ้าตาลไหม้ เมื่อสุกสีนํ้าตาลแดงเข้ม ผลรูปทรงยาวจากหัวท้าย คล้ายกระสวย เปลือกมีลักษณะเป็นเกล็ดเรียงซ้อนกัน ปกคลุมด้วยหนาม ปลายหนามงอนไปทางท้ายผล ผลมี 1-3 กลีบ เมื่อดิบมีรสฝาด และเปรี้ยวเช่นเดียวกับระกำ เมื่อสุกจะให้รสหวานฉํ่า และเข้มข้นมากกว่าระกำ เนื้อแน่น หนา กลิ่นหอม เมล็ดมีขนาดเล็ก เติบโตได้ทั้งในที่ดอน และที่ลุ่ม แต่ปลูกในที่ลุ่มให้ผลผลิตดีกว่า
ผลสละเนินวงมีระยะการเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เริ่มระยะติดผลรุ่นแรกจะใช้เวลาประมาณ 9-10 เดือน การเจริญเติบโตของผลในช่วง 1-5 เดือน ค่อนข้างช้ามาก เมื่อเข้าเดือนที่ 6 ผลเริ่มมีการขยายขนาดอย่างรวดเร็วจนกระทั่งเดือนที่ 8 และสุกในช่วงประมาณเดือนที่ 9 และสามารถเก็บผล การผสมเกสรจะเริ่มช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนของปีถัดไป ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเก็บผลสละ เนื่องจากฝนยังไม่ชุก ผลผลิตสละจะมีมากในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้เกือบทุกวัน และผลผลิตจะค่อยหมดในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ผลสละที่เก็บในช่วงฝนตกชุกจะทำให้ผลสละมีความหวานน้อยลง และเน่าได้ง่าย
4. พันธุ์สุมาลี
เป็นสละพันธุ์ใหม่ล่าสุดของไทย มีลำต้นคล้ายระกำ ทางใบยาวสีเขียวอมเหลือง ใบกว้าง ปลายใบสั้นกว่าสละเนินวง หนามอ่อนมีสีส้มอ่อน ช่อดอกใหญ่ ยาว ติดผลง่าย ผลป้อมสั้น สีเปลือกเนื้อคล้ายสะละเนินวง ให้เนื้อหนา แต่บางกว่าสละเนินวง มีรสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะ เมล็ดมีขนาดเล็กเหมือนสละเนินวง ทนต่อสภาพแสงแดดจัด และแห้งแล้งได้ดีกว่าสละเนินวง
สละพันธุ์อินโด
ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์สละจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในไทย เช่น สละพันธุ์อินโด ที่มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ผลขนาดใหญ่กว่าสละไทย สีผลหรือเปลือกเมื่ออ่อนออกสีเหลือง เมื่อสุกให้ผลสีดำเทาเข้ม เนื้อหนา มีรสหวาน เมล็ดเล็ก
– ผลสละเป็นผลไม้รับประทานสด สละเชื่อม และทำน้ำผลไม้
– ยอดอ่อนนำมาปรุงอาหาร เช่น แกง หรือรับประทาสด
– สละมีรากฝอยจำนวนมาก ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน และการลุกล้ำของดินเค็ม
– ใบ และก้านสละสามารถนำมามุงหลังคา ทำร่มบังแดด หรือทำรั้ว ทำแนวกั้น
– ใบสละใช้ห่อขนมหรือห่ออาหาร
– เมล็ดนำมาสกัดน้ำมันใช้ทานวดกล้ามเนื้อ บำรุงผม และนำไปใช้ในด้านอื่นๆ
– ก้านใบกรีดให้เล็กใช้ทำเป็นเชือกรัดของ
– ผลสละอุดมด้วยน้ำตาล วิตามินซี และสารอาหารอื่นๆ ที่ให้พลังงาน และบำรุงร่างกาย
– ผลรับประทานเป็นยาระบายทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการเจ็บคอ และอาการไอ
– รสเปรี้ยวช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตาสว่าง
– ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– มีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูก และฟัน
– ช่วยป้องกันเลือดกำเดา
– น้ำมันเมล็ดสละใช้นวดกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย
– ผลสุกสละมีสีน้ำตาลแดง และสีเข้มกว่าผลสุกระกำที่มีสีส้มออกแดงเล็กน้อย
– เปลือกสละไม่ติดเนื้อมาก จึงปอกง่าย ส่วนระกำเปลือกติดเนื้อมากกว่า
– ผลสละมีลักษณะเรียวยาวกว่าผลระกำที่มีลักษณะป้อมกลมกว่า
– ผล และเนื้อสะละมีลักษณะนิ่ม และหนากว่าระกำ
– เนื้อสละมีรสหวานมากกว่าสละ จึงนิยมรับประทานมากกว่าเมื่อเทียบกับผลระกำ