ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี "ยางพารา"

ยางพารา
ยางพารา

ยางพารา

ลักษณะทั่วไป

ยางพารา เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ นำมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดตรัง ในปี พ.ศ. 2442-2444 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี เป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ อายุยาวนับร้อยปี เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ รากเป็นระบบรากแก้ว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาวปนเหลือง ใบเป็นใบประกอบ 1 ก้าน มีใบย่อย 3 ใบแตกออกมาเป็นชั้นๆ เรียกว่า ฉัตร ดอกยางมีลักษณะเป็นช่อ โดยมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ผสมพันธุ์แบบเปิดผลยางมีลักษณะเป็นพูแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ภายใน เมล็ดมีสีน้ำตาลลายขาวคล้ายเมล็ดละหุ่ง ยางพารามีส่วนสำคัญที่มนุษย์นำไปใช้ประโยชน์ คือ น้ำยาง ซึ่งเป็นของเหลวสีขาวถึงขาวปนเหลือง ขุ่นข้น อยู่ในท่อน้ำยาง ซึ่งเรียงตัวกันอยู่ในส่วนที่เป็นเปลือกของต้นยาง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 10 องศาเหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีพื้นที่เป็นที่ราบถึงลาดเอียงเล็กน้อย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 เมตร ลักษณะดินควรเป็นดินร่วน ระบายน้ำและอากาศดี น้ำไม่ท่วมขังมีความเป็นกรดเป็นด่าง 4.0-5.5 และไม่เป็นดินเค็ม ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,350 มิลลิเมตร/ปี และมีวันฝนตกไม่น้อยกว่า 120 วัน/ปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีไม่น้อยกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 24-27 องศาเซลเซียส

พันธุ์ส่งเสริม

1. สถาบันวิจัยยาง 251 (RRIT 251) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงมาก ผลผลิตเฉลี่ย (10 ปีกรีด) 477 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีการเจริญเติบโตปานกลางทั้งในระยะก่อนเปิดกรีดและระหว่างกรีด แตกกิ่งมากทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง การแตกกิ่งไม่สมดุลย์พุ่มใบทึบ ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่เป็นรูปทรงกลม ผลัดใบค่อนข้างช้า เปลือกเดิม และเปลือกงอกใหม่หนาปานกลาง เหมาะสำหรับระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวันถ้ากรีดลึกเป็นบาดแผลถึงเนื้อไม้เปลือกงอกใหม่เสียหายปานกลาง ต้านทานโรคเส้นดำและโรคเปลือกแห้งได้ดี ต้านทานโรคราสีชมพูและโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา, ออยเดียม และคอลเลคโทตริกัม ปานกลาง ข้อจำกัดของยางพันธุ์นี้ คือ ไม่ควรปลูกในพื้นที่ลาดชัน พื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น และมีระดับน้ำใต้ดินสูง

2. อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 (RRIM 600) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ผลผลิตเฉลี่ย (13 ปีกรีด) 289 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีการเจริญเติบโตปานกลางทั้งในระยะก่อนเปิดกรีดและระหว่างกรีด แตกกิ่งช้า กิ่งมีขนาดปานกลาง ทรงพุ่มเป็นรูปพัด เริ่มผลัดใบเร็วเปลือกเดิมบาง เปลือกงอกใหม่หนา เหมาะสำหรับระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้น วัน ถ้ากรีดลึกเป็นบาดแผลถึงเนื้อไม้เปลือกงอกใหม่จะเสียหายรุนแรง ต้านทานโรคเปลือกแห้งได้ดี แต่ไม่ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา โรคเส้นดำและโรคราสีชมพู จึงไม่ควรปลูกยางพันธุ์นี้ในพื้นที่เขตภาคใต้ฝั่งตะวันตก และบริเวณชายแดนของภาคตะวันออกของประเทศไทย

การปลูก

การเตรียมดิน

การเตรียมพื้นที่ปลูกยาง ในกรณีที่เป็นพื้นที่ป่าหรือมีต้นไม้อื่นขึ้นอยู่ ควรเริ่มจากการโค่นต้นไม้ในแปลงที่จะปลูกยางออกให้หมด เก็บเผาเศษไม้ให้เรียบร้อย ทำการไถ 2 ครั้ง พรวน 1 ครั้ง ส่วนพื้นที่ที่เตียนหรือปลูกพืชไร่อื่นอยู่ก่อนแล้ว สามารถไถ 2 ครั้ง และพรวน 1 ครั้ง ได้เลย สำหรับพื้นที่ลาดชัน ซึ่งมีความลาดชันเกิน 15 องศาต้องทำขั้นบันได

ระยะปลูก

ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ สภาพพื้นที่และเขตพื้นที่จะปลูกยาง

การปลูก

ชนิดของต้นพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูกกันมากในปัจจุบันคือ ต้นยางชำถุง ขนาด 1-2 ฉัตร ซึ่งก่อนปลูกหลังจากเตรียมพื้นที่และกำหนดระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว ต้องขุดหลุม กว้างxยาวxลึก เท่ากับ 50x50x50 เซนติเมตร แยกดินบนดินล่างไว้คนละส่วน ตากดินทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นย่อยดินให้ร่วน แล้วผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตกับดินบนอัตรา 170 กรัม/หลุม สำหรับในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 5 กิโลกรัม/หลุม คลุกกับดินบนและปุ๋ยหินฟอสเฟตด้วย ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง คือ ต้นฤดูฝนการปลูกด้วยต้นยางชำถุง เริ่มจากนำดินบนที่ผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตเรียบร้อยแล้วใส่รองก้นหลุม จากนั้นนำต้นยางชำถุงมาตัดก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว เพื่อตัดปลายรากที่คดงอทิ้ง วางต้นยางที่ตัดก้นถุงออกแล้วลงไปในหลุม โดยให้ดินปากถุงหรือรอยต่อระหว่างลำต้นและรากอยู่ระดับเดียวกับพื้นดินปากหลุมพอดี จัดต้นยางให้ตรงกับแนวต้นอื่น ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงพลาสติกจากก้นถุงถึงปากถุงให้ขาดจากกันกลบดินล่างที่เหลือลงไปจนเกือบเต็มหลุม ค่อยๆ ดึงถุงพลาสติก ที่กรีดไว้ออกจากนั้นจึงกดอัดดินข้างถุงให้แน่น กลบดินเพิ่มจนเต็มหลุม อัดให้แน่นอีกครั้งพูนโคนเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำขัง จากนั้นปักไม้หลักและใช้เชือกผูกต้นยางยึดไว้กันลมโยก

การกรีดยาง

เป็นวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากต้นยาง ต้นยางที่จะสามารถเปิดกรีดได้ต้องมีขนาดเส้นรอบต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร (วัดที่ความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร) และจะทำการเปิดกรีดเมื่อมีจำนวนต้นยางที่ได้ขนาดเปิดกรีดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนต้นยางทั้งหมดในสวน โดยปกติจะเริ่มเปิดกรีดในช่วงต้นฤดูหนาว (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ระบบกรีดที่เหมาะสม คือ ครึ่งลำต้น วันเว้นวัน ผลผลิตที่ได้ คือ น้ำยาง ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปจำหน่ายในรูปของน้ำยางสดได้โดยตรง หรือจะไปทำเป็นยางแผ่นดิบจำหน่ายก็ได้ ผลผลิตเฉลี่ยของยางไม่ควรต่ำกว่า 250 กิโลกรัม (เนื้อยางแห้ง) ต่อไร่ต่อปี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

ยางพารา
หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) เป็นบุคคลแรกที่นำยางพาราเข้ามาปลูกในจังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่แรกของภาคตะวันออก
พืชเศรษฐกิจ
ยางพารา
https://sites.google.com/site/manlikasaetern/khxmul-phun-than-khxng-yangphara
จตุพร พุทธิศา แก้ไขล่าสุด 2019-04-01 15:27:07

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

พริกไทย
พริกไทย
มังคุด
มังคุด
ทุเรียน
ทุเรียน
สละ
สละ
เงาะ
เงาะ
ยางพารา
ยางพารา