ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี "เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์"

เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์

เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์

ประวัติความเป็นมา

ชาติไทย เป็นชาติที่มีศิลปะการแสดงหลากหลาย ทั้งในระดับสังคมชาวบ้าน และในราชสำนัก ศิลปะการแสดงเหล่านี้ แสดงถึงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าสูงส่งและความเป็นอารยชาติ ศิลปะการแสดงของไทย โดยเฉพาะโขน- ละคร เป็นศิลปะที่แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญา ที่มิใช่มีแต่ความงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นศิลปะที่ชาวโลกทุกคนควรจะได้สัมผัสและรับรู้ได้

ศิลปะการแสดงของไทย เชื่อกันว่ามีพื้นฐานมาจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ ประการแรก เกิดจากพื้นฐานอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์ เช่น ดีใจก็โลดเต้นส่งเสียงร้อง เสียใจก็ร้องไห้คร่ำครวญ ต่อมาจึงได้พัฒนาอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เป็นพื้นฐานการแสดงในที่สุด ประการที่สอง เกิดจากความเชื่อทางศาสนา เช่น เชื่อว่าสรรพสิ่งรอบตัวในธรรมชาติมีอำนาจที่เร้นลับแฝงอยู่ สามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ และต่อมาได้พัฒนาเป็นระบบเทพเจ้า การอ้อนวอนธรรมชาติหรือเทพเจ้าให้เกิดความพึงพอใจ เพื่อประทานผลสำเร็จ ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นต้นแบบให้เกิดการสวดอ้อนวอน การขับร้องดนตรี และการฟ้อนรำ

รูปแบบศิลปะการแสดงของไทยได้พัฒนาการมาเป็นลำดับ ทั้งในแนวของศิลปะพื้นบ้านหรือเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า การแสดงพื้นบ้าน เช่น รำ ระบำ และละครบางประเภท ส่วนอีกแนวหนึ่งนั้น เป็นศิลปะที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระอุปถัมภ์ของพระบรมวงศ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในชื่อว่า ศิลปะในราชสำนัก หรือการแสดงในราชสำนัก ซึ่งเป็นที่มาของรูปแบบนาฏศิลป์ประเภท โขน รำ ระบำ และละครรำ ในปัจจุบัน หมายถึง การแสดงที่ประกอบด้วยผู้แสดงคนเดียว เรียกว่า รำเดี่ยว หรือผู้แสดงสองคน เรียกว่า รำคู่ แต่มีรำบางชนิดที่มีผู้แสดงมากกว่า ๒ คน แต่ยังเรียกว่า รำ เช่น รำสีนวล รำวง ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความงดงาม การเคลื่อนไหวของผู้แสดงที่สอดประสานกับเพลงดนตรี ไม่มุ่งเน้นในเนื้อเรื่องการแสดงระบำ ปัจจุบัน หมายถึง การแสดงที่ประกอบด้วยผู้แสดงจำนวนมากกว่า ๒ คน ขึ้นไป มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความงดงาม ความพร้อมเพรียง การแปรแถวในขณะแสดง ประกอบกับการแต่งกาย และเพลงดนตรีที่ไพเราะ

การแสดงรำและระบำ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในเรื่อง แต่ด้วยความงดงามดังกล่าว สามารถตัดทอนนำมาใช้แสดงเป็นชุดการแสดงที่เป็นเอกเทศได้ การแต่งกายของ รำ ระบำ แต่เดิมแต่งยืนเครื่องพระนาง ในปัจจุบันได้เกิดรำ ระบำแบบใหม่ ๆ ซึ่งแต่งกายตามสภาพหรือแต่งกายตามรูปแบบการแสดงละครประเภทต่าง ๆ "รำโทน” เป็นศิลปะของคนในท้องถิ่น สาเหตุที่เรียกว่ารำโทนก็เนื่องจากใช้ "โทน” ลักษณะเป็นกลองหน้าเดียวเป็นเครื่องดนตรีหลักในการให้จังหวะ บางครั้งก็เรียกกันว่า "รำวง” โดยเรียกตามลักษณะการก้าวเท้าเคลื่อนย้ายตามกันเป็นวงของผู้รำ และเมื่อชาวกรุงไปพบเข้าจึงเรียกการรำชนิดนี้ว่า "รำวงพื้นเมือง” รำวง หรือรำโทน ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ (proper noun) หรือชื่อตายตัว อย่างที่เป็นในระยะหลัง แต่ชาวท้องถิ่นจะเรียกศิลปะนี้ในชื่ออื่นแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และการร่ายรำชนิดนี้ที่มาจากภาคอีสาน หรือจังหวัดในภาคเหนือ ที่มีคนเชื้อสายลาวอาศัยอยู่ เช่น เพชรบูรณ์ ซึ่งสืบทอดถ่ายโอนมาจากลาว ที่มาของรำโทน หรือรำวงนั้น ได้จากการเล่า "นิทานก้อม” หมายถึง นิทานสั้นๆ เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ หรือเรื่องที่กุหรือแต่งขึ้นในภายหลัง การเล่านิทานก้อม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความสนุกสนาน ตลกโปกฮาและคลายทุกข์โศก ดังนั้นจึงนิยมจัดให้มีการเล่านิทานก้อมในงาน "งันเฮือนดี” หรืองานศพ เพราะเรื่องราวต่างๆในนิทานจะได้สร้างความเพลิดเพลินสนุกสนาน เป็นการปลุกปลอบให้กำลังใจแก่ญาติพี่น้องของคนตาย ให้ปลงและเลิกโศกเศร้าไปในตัว ส่วนแขกเหรื่อในชุมชนที่มาช่วยงานก็จะได้รับความสนุกเพลิดเพลิน ในขณะช่วยงานไปด้วย ลักษณะการรำโทนนั้นเป็นการรำคู่ระหว่างชายหญิงให้เข้ากับจังหวะโทน โดยไม่มีท่ารำกำหนดเป็นแบบแผนตายตัว ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รำโทนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตามจังหวัดต่าง ๆ บทร้องมีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่บทชมโฉม บทเกี้ยวพาราสี บทสัพยอกหยอกเย้า และบทพรอดพร่ำร่ำลาจากกัน ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เจรจาขอตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อเป็นทางผ่านสำหรับลำเลียงเสบียง อาวุธ และกำลังพล เพื่อไปต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยกพลขึ้นที่ ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จำเป็นต้องยอมให้ทหารญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ มิฉะนั้นจะถูกฝ่ายอักษะ ซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วยนั้นปราบปราม ประเทศไทยขณะนั้นจึงเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตี ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลาย ทำให้ชีวิตผู้คน บ้านเรือน ทรัพย์สินเสียหายยับเยิน โดยเฉพาะที่ที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วฝ่ายพันธมิตรจะส่งเครื่องบินมารุกรานจุดยุทธศาสตร์ในเวลาคืนเดือนหงาย เพราะจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย ชาวไทยมีทั้งความหวาดกลัวและตึงเครียด จึงได้ชักชวนกันเล่นเพลงพื้นเมือง คือการรำโทน เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียด ให้เพลิดเพลินสนุกสนานขึ้นบ้าง

การรำโทนนั้นใช้ภาษาที่เรียบง่าย เนื้อร้องเป็นเชิงเย้าแหย่ หยอกล้อ เกี้ยวพาราสีกัน ระหว่างหนุ่มสาว ทำนองเพลง การร้อง ท่ารำ การแต่งกายก็เรียบง่าย มุ่งความสนุกสนาน พอผ่อนคลายความทุกข์ไปได้บ้างเท่านั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกรงว่าชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นจะเข้าใจว่า ศิลปะการฟ้อนรำ ของไทยมิได้ประณีตงดงาม ท่านจึงได้ให้มีการพัฒนาการรำโทนขึ้นอย่างมีแบบแผน ประณีตงดงาม ทั้งท่ารำ คำร้อง ทำนองเพลง และเครื่องดนตรีที่ใช้ ตลอดจนการแต่งกาย จึงเรียกกันว่า "รำวงมาตรฐาน" เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างต่อไป

รำวง มีกำเนิดมาจาก รำโทน แต่เดิมรำโทนเป็นการเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ที่นิยมเล่นกัน ในฤดูเทศกาลของท้องถิ่นบางจังหวัด คำว่า "รำโทน” สันนิษฐานว่าเรียกชื่อจากการเลียนเสียงตามเครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่เป็นหลัก คือ "โทน” ซึ่งตีเป็นลำนำเสียง " ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน โทน” รำวง เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ที่ร่วมกันเล่นเพื่อความสนุกสนานและเพื่อความสามัคคี นิยมเล่นกันในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ รำวงนั้นเดิมเรียกว่า "รำโทน" เพราะใช้โทน เป็นเครื่องดนตรีตีประกอบจังหวะ โดยใช้โทนเป็นจังหวะหลัก มีกรับและฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบ แต่ไม่มีเนื้อร้อง ผู้รำก็รำไปตามจังหวะโทน ลักษณะการรำก็ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ เพียงแต่ย่ำเท้าให้ลงจังหวะโทน ต่อมามีผู้คิดทำนองและบทร้องประกอบจังหวะโทนขึ้น ต่อมารำโทนได้พัฒนาเป็น "รำวง" มีลักษณะคือ มีโต๊ะตั้งอยู่กลางวง ชาย - หญิงรำเป็นคู่ๆ ไปตามวงอย่างมีระเบียบ เรียกว่า "รำวงพื้นเมือง" เล่นได้ทุกงานเทศกาล ทุกฤดูกาล หรือจะเล่นกันเองเพื่อความสนุกสนาน

รำวงที่เล่นกันใน หมู่ที่ ๑ บ้านตะปอนใหญ่ ตำบลเกวียนหัก ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับรำวงทั่วไป คือ ชาย – หญิง รำเป็นคู่ ๆ แต่ที่มีลักษณะเด่น คือ ท่ารำที่เลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ เช่น นกเขา กระต่าย ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดในบทต่อๆ ไป

ขนบ

การแสดงทุกชนิดของไทย จะต้องมีพิธีกรรมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณและพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบมาที่เห็นได้ชัด คือ พิธีไหว้ครูก่อนการแสดง เพราะเชื่อกันว่าการระลึกถึงครูบาอาจารย์ ทำให้การแสดงลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรค ดังนั้นก่อนจะรำวงกันให้สนุกสนาน ต้องรำและร้องเพลงไหว้ครูก่อน เป็นเพลงแรก

ป้าสนม บุญประกอบ เล่าให้ฟังว่า การไหว้ครูของคณะรำวงไม่มีพิธีกรรมอะไรมากนัก เพียงแค่นำ ดอกไม้ ใส่แจกันวางไว้บนโต๊ะกลางแจ้ง และจุดธูป เทียน บอกกล่าวครู ก่อนการแสดง

โน้ตเพลง บทเพลง บทละคร

เพลงรำวง เป็นเพลงที่ชาวบ้านแต่งขึ้น มีทำนองและภาษาที่ง่ายๆ เนื้อเพลงสั้น และใช้ธรรมชาติรอบรอบตัว มาแต่งเป็นเพลง ดังตัวอย่างเพลงรำวงที่ร้องกันในแถบหมู่บ้านตะปอนใหญ่ ตำบลเกวียนหัก

เพลงไหว้ครู

ฉันรำชวนชิด ประดิษฐ์รำบา ยกมือวันทา ฉันรำไหว้ครู ไหว้ครู ไหว้ครู ไหว้ครูในวงฟ้อนรำ

เพลงเร็วเข้าสิ

เร็วเข้าสิมีรำวง ชายร้องส่งให้หญิงรำ ไปป่าเขา สาวเจ้าเจริญใจ เก็บดอกไม้เสียบใส่ลอนผม ชวนกันร้องเป็นเพลงชื่นชม เก็บลั่นทมร้อยเป็นมาลา

เพลงรำวงกันก่อนนะเธอ

รำวงกันก่อนนะเธอ แรกเจอสายตาก็รักกัน รำวงเหมือนทอดสะพาน สุขสำราญตัวฉันรักเธอ รักกันนั้นมันแสนยาก คารมปากชายเชื่อไม่ได้ ใจชายหมุนเวียนเปลี่ยนไป เชื่อไม่ได้น้ำใจอย่างเธอ เชื่อไม่ได้น้ำใจอย่างเธอ

เพลงเจ้านกเขา

โอ้เจ้านกเขา ตื่นแต่เช้าเฝ้าแต่ขัน ทุกคืนวัน เฝ้าแต่ขัน เสนาะน้ำใจ เฝ้าแต่ขันเสนาะน้ำใจ ล่องลอยไปตามสายลม ฉันชมแล้วให้ชื่นใจ โอ้นกเขาไฟ จับอยู่ในยอดภูเขาทอง จับเรียงกระไรเคียงคู่ จู้ฮุกกรู หาคู่ครอง สองตัวพี่น้อง เฝ้าแต่มองสายตารักกัน

เพลงนกเขาไฟ

นกเขาไฟบินถลา นกเขาชวาบินมาหาคู่ ตั้งประชัน ตั้งประชันขันคู่ มาจู้ฮุกกรู มาจู้ฮุกกรู จู้ฮุกกรุก จู้ฮุกกรุก ถึงยามสนุกมา จู้กรุกจู้กรู ถึงยามสนุกมาจู้กรุกจู้กรู

เพลงปักษาจะบิน

บินปักษาจะบิน ลา ล่า ล้า บินปักษาจะบิน ตะวันรอนๆ เมื่อตอนเช้าตรู่ ฉันมองดูปักษาจะบิน

เพลงยามเย็น

ยามเย็นฉันเคยเดินเล่น พบนกกางเขนหาคู่เจรจา ได้ยินเสียงแจ้ว แว่วตามลมมาๆ ตัวฉันนึกว่าเสียงหริ่งเรไร ฉันจะร้องทักว่าคู่รักก็ไม่ใช่ ฉันจะร้องทักคู่รักก็ไม่ใช่ ทำไฉนจะได้รักเธอ

เพลงรุ้งกินน้ำ

รุ้งงามกินน้ำอยู่เป็นวง อยู่เป็นวง วงโค้งนภา พระอาทิตย์ฉายแสงลงมา พระอาทิตย์ฉายแสงลงมา สว่างตาจากฟ้ามาดิน โน้นแนะดาวลอยเคล้าอยู่กับเดือน โน้นแนะเดือนลอยเลื่อนอยู่บนนภา ลมโชยโบยพัดสะบัดมา แหมๆ มันหนาวอุราเสียไม่รู้วาย เออ เอย ใจไม่วายคะนึง

เพลงกระต่ายเจ้าขา

กระต่ายเจ้าขา มันน่ารักจริงถูกพระจันทร์ทอดทิ้งมองแล้วก็เศร้าใจ จันทร์จ๋าลอยมาแต่ไกล อีกสัก เมื่อใดจะได้เจอกัน

เพลงคล้องช้าง

คล้องช้างกันเถอะเหวย ช้างป่าจะเข้ามาเกย ต้นเตย ใบเตย แขนงเตย ยอดเตย ตัดยอดเอาไว้ยาว ตัดยอดเอาไว้ยาว ใครมีลูกสาวขอเอาเสียเลย (ตัดยอดเอาไว้สั้น ตัดยอดเอาไว้สั้น)

เพลงสายบัว

บัวสายบัวให้น้องเตรียมตัวขันหมากจะมา เดือนสี่ติดต่อเดือนห้าขันหมากจะมาให้น้องเตรียมตัว (เดือนห้าติดต่อเดือนหก)

เพลงสายบัวสั้น

บัวสายสั้น บัวบานอยู่ในน้ำใส (อยู่ริมน้ำไหล) สายบัวยังมีเยื่อใบ บัวบังใบก็ยังมีดอกบาน บัวบังใบก็ยังมีดอกบาน

เพลงสีซอ

สี สี สี สีซออยุธยา ใครเก่งเชิญรำเข้ามา วันนี้ละหนาตั้งท่าไว้ให้ดี

เพลงกาเหว่า

กา กา กา กาเหว่าบินลอยละล่อง ไม่ใช่คู่ครองหงส์ทองของเธอ อย่ามายืนเฉยเฉย ใครเลยจะไม่เก้อ อย่ามายืนเฉยเฉย ใครเลยจะไม่เก้อ ไม่ใช่คู่เธอ อย่ามาเพ้อแลมอง

เพลงชวนน้องขึ้นรถ

ไปซิ มาซิ ขึ้นรถแท็กซี่สามล้อคนไทย จั้บปริ่งกระดิ่งเป็นเพลง เอามาบรรเลงเป็นเพลงฮาวาย ปูนอย ปูนอย กะปูนอย นอย น่อย น้อย นอย น้อย นอย

เพลงชายงาม

ชายคนนี้มองดูไหนก็งาม สวยอร่ามเพลินตาน่าชม คิ้วก็ต่อคอก็กลม รูปร่างก็สวยสม หวีผมยกลอน เร เร้ ซอน เร ซอน เร ซอน เร เร้ ซอน เร ซ๊อน เร ซอน

เพลงหน้าหนาว

หน้านี้ก็เป็นหน้าหนาว ลมหนาวพัดโชยกระหน่ำ แม้เรียมจะมาไร้คู่รำๆ งามขำจงโปรดเห็นใจ หากเรียมหนาวจิต ขอให้ชิดเข้ามาใกล้ๆ ชิดหน่อยจะเป็นไรไป สายใจจงโปรดเอ็นดู

เพลงมืดฟ้ามัวฝน

มืดฟ้ามัวฝน พี่ยังทนมาได้ เพราะว่าเธอนัดไว้ๆ พี่ชายอุตส่าห์ตามมา นั่งคอยนอนคอย คอยอยู่ตั้งหลายเวลา ไม่เห็นน้องมา พี่ยารู้สึกเสียใจ

พายงัด

ลูกคลื่นกระเซ็นกระซัด พายงัดฉันกลัวเรือล่ม พายเรือทวนลม ฉันกลัวเรือล่ม พายงัด ๆ

เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด

ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย สวรรค์น้อยๆ อยู่ในวงฟ้อนรำ รูปหล่อขอเชิญมาเล่น เนื้อเย็นเขาชวนมารำ มองมาในตาหวานฉ่ำ ๆ มาร้องมารำกับพี่นี่เอย

เพลงงามแสงเดือน

งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า งามใบหน้ามาสู่วงรำ เราเล่นกันเพื่อสนุก เปลื้องทุกข์ไม่วายระกำ เราเล่นฟ้อนรำ เพื่อความสามัคคีเอย

เพลงจันทร์ลอย

จันทร์ลอย บุญฉันน้อยจันทร์หมองหม่น เฝ้าคะนึงถึงแต่หน้ามลๆ ความรักหมองหม่น ความจนหมองมัว

เพลงสวัสดี

สวัสดี ขอให้มีโชคชัย พี่น้องชาวไทยตั้งใจสามัคคี คู่เก่าจากไปหาคู่ใหม่แทนที่ๆ ตั้งใจสามัคคี เหมือนพี่น้องท้องเดียว

เพลงหงส์ทอง

หงส์ทองน้องแก้ว ไม่รักพี่แล้วจะต้องลา ดอกบัวอย่ากลัวน้ำค้างๆ ไม่ใช่คู่สร้างต่างคนก็ต่างลาโอ๋ละเน้อ บุญมาเจอกันแล้ว บุญน้อง บ่ข่อย บ่แอ้วๆ เป็นบุญแม่แล้วแม่แก้วตากลม ชมลมพัดรำเพย ๆ หอมกลิ่นเตย หอมเอยก็ชื่นใจ

เพลงไก่งาม

ไก่งามเมื่อยามบิน โผผินหากินไกลจัง นาน ๆ ทหารมาอยู่ ๆ โอ้แม่หนูมีคู่หรือยัง ทหารมาไม่มีที่พึ่ง เอวกลึงขอพึ่งนงคราญ ร้องรำอย่าทำตาหวาน หัวอกทหารแทบจะพัง ไก่งามเมื่อยามบิน โผผินหากินไกลจัง นาน ๆ หันหน้ามามอง เธอมีเจ้าของจองแล้วหรือยัง ต่างคนต่างยังมารักกันบ้าง จะเป็นไรไป

เพลงรำคองก้า

รำคองก้า คิวบาบู่ ดูซิดู เป็นหมู่ร้องรำคองก้า ชิกๆๆ บาบู บาๆๆๆๆ รำร้องแบบคิวบา รำคองก้า คิวบาบู

เพลงโอฐสะอาด

โอฐสะอาดเหมือนดังชาติจิ้มลิ้ม ปากแดงจิ้มลิ้ม เธอ ช่างยิ้มละไม ยิ้มนิดๆ ยิ้มหน่อย ย้อมน้อยๆ ก็พลอยสุขใจ ไหนลองยิ้มหน่อย สายใจช่างยิ้มน่าดู

เพลงสวยพุ่งปรี๊ด

สวยพุ่งปรี๊ด สุดจะคิดผิวเนื้อนวลน้อง โอ้แม่รูปทอง ใครได้มองแล้วต้องติดใจ

เพลงรำวงค่ำค่ำ

ค่ำแล้วก็เริ่มรำวง จะประสงค์ในการแข่งขัน คืนค่ำเคยรำอยู่ทุกวัน คืนค่ำเคยรำอยู่ทุกวัน พอเสร็จจากงาน กลับไปบ้านรำวง

เพลงสวยแต่งอน

สวยแต่งอนยามมองแม้เธอมาหลบ สวยเพียงตาตบ แหมเธอมาหลบ นัยน์ตาฉันมอง สวยเมื่อแรกเจอ ฉันมองเธอ รู้สึกเอียงอาย สวยไม่วาย เสียดายในตาเธอ

เพลงรำวงเสริมส่ง

รำสวยเสริมส่ง รำโค้งให้ไทยวัฒนา รินลา ลา ล่าๆๆๆ นักกีฬาฟ้อนรำ แขนอ่อนยิ่งฟ้อนยิ่งงาม คนงามเมื่อยามรำวง

เพลงไชโย

ไชโยๆๆ ถือเหล้าขวดโต จะไปหาเมียใหม่ เมียเก่า มันไม่เอาไหน จะไปหาเมียใหม่ ใหญ่ๆโตๆ ไชโยๆๆ ถือเหล้าขวดโต จะไปหาผัวใหม่ ผัวเก่า มันไม่เอาไหน จะไปหาผัวใหม่ ใหญ่ๆโตๆ

เพลงยามเย็นเดินเล่นทะเลเหนือ

ยามเย็นเดินเล่นทะเลเหนือ ลงเรือสองคนพายเล่น น้ำใสๆ แลดูก็ไหลเย็นๆ สองคนพายเล่นแสนสุขสำราญ

เพลงสาวน้อยพายเรือ

ช๊ะ หน่อ ละ นอ ละ น้อย... สาวน้อยมาพายเรือเล่น เมื่อลมพัดเย็น พายเล่นชายหาด น้ำก็สาดเปียกกระเซ็น เรือติดพี่จะช่วยลงเข็นๆ สาวน้อยไม่เห็นใจพี่บ้างเลย

เพลงลาก่อน

ลาก่อนนะเธอ ปีหน้าค่อยเจอกันใหม่ บ้านฉันอยู่ ไกล อยู่ได้ฉันจะอยู่ เป็นเวรเป็นกรรม หนอต้องจำจากคู่ไป จากไปใจอยู่ เป็นคู่ด้วยกันกับเธอ

เพลงดินคู่ฟ้า

ดินกับฟ้าคู่กัน พระอาทิตย์คู่กับพระจันทร์ ส่วนตัวฉันจะคู่กับใคร หนูๆ มีคู่มาหรือเปล่า เธอเล่ามีเมียหรือยัง ต่างคนต่างยังมารักกันบ้างจะเป็นไรไป

เพลงแหวนเอย

แหวนเอยที่เคยสวยก้อย บุญฉันน้อยรักต้องลอยตามลม ปลูกรักให้หวังใจจะได้ชมๆ ทั้งขื่นทั้งขมระทมใจเอย

เพลงเกี่ยวก้อย

เกี่ยวก้อยกันเดิน เพลินนัยน์ตาแล้วพาให้ชื่น ไม่ใช่คนอื่นที่ไหนมา เกี่ยวก้อยกันแสนจะเพลินวิญญา คืนนี้เรามา เรามา ฟ้อนรำ

เพลงชวนสาวรำวง

ชักชวนสาวงาม ฟ้อนรำถวายหลวงพ่อ อนิจจารูปหล่อ คิ้วต่อซิ กระไรข้างเดียว เอาเรือยนต์เข้าไปรับ ขากลับซิกระไรน้ำเชี่ยว สิบเอ็ดเดือนเดียว ไปเที่ยวสมุทรเจดีย์ ไปไหนกันละจ๊ะ หรือจะไม่ไยดี พระบรมเจดีย์ เป็นที่นมัสการ

เพลงรักแท้แน่หรือ

รักแท้แน่แล้วหรือ สุดฝีมือจะรักกับใคร อยู่ที่นี่เธอก็ว่าเป็นสาว ทิ้งลูกทิ้งเต้าเป็นสาวลอยชาย

เพลงจำลาอาลัย

เอ่ยปากจะลา น้ำตากระไรไหลร่วง แสนรักซิกระไรแสนห่วง ฉันรักเจ้าพวงดารา

เพลงรักสาวบ้านไกล

บ้านอยู่ไกลแสนไกล ฉันยังอุตสาห์มาเที่ยวในวงรักเธอคนเดียว มาเที่ยวในวงฟ้อนรำ โอ้แม่ยอดชีวัน โอ้แม่ขวัญชีวี มารับรักกับพี่ แม่คนดีที่ฟ้อนรำๆ เป็นธรรมดาปลื้มอะไรอย่างนี้ ร้อยปีไม่ปลื้มๆ ว่ารักอยู่ใกล้ภายใต้แสงจันทร์

เพลงค่ำแล้ว

ดึกแล้วค่ำแล้วแว่วเสียงเพลง ใครหนอมาบรรเลง ใจฉันเลื่อนลอย คิดถึงคู่เคยรำ เคยฝากคำน้ำถ้อย ป่านฉะนี้เธอคงคอย ใจละห้อยคอยหาเธอ ใจละห้อยคอยหาเธอ อีกสักเมื่อไร ถึงเธอจะมา จะได้เห็นหน้า หายทุกข์หายโศก

เพลงเดือนจ๋า

เดือนจ๋าเดือน สาวน้อยลอยเลื่อนเหมือนเดือนคืนจากฟ้า ยามเย็นไม่เห็นหน้าน้องมา ในอุราของพี่สะท้อน ที่จริงน้องควรหยุดพัก มานั่งฝากรักกันเสียก่อน สาวงามอย่าได้อาวรณ์ๆ พี่จะพาน้องจรไปตอนเที่ยงคืน

ชวนน้องล่องเรือ

พอลมดีเขาก็ชักใบพาย ภูวนัยอุ้มนางมัจฉา ชักชวนน้องนายย่างลงนารา ชมหมู่มัจฉาที่ใยสายชล เพลงเจ้าดอกเฟื่องฟ้า

โอ้เจ้าดอกเฟื่องฟ้า สัญญากันว่าอย่างไร อย่ามาลืมความรัก จะมาลืมความหลัง ครั้งก่อนไม่ทักไม่ทาย เจ็ดวันลืมฉันแล้วซิ นารีลืมรักง่ายดาย โบราณท่านว่าไว้ น้ำใจสตรีไม่มีแน่นอน

รำโทน

โทนเอ๋ย โทนจ๋า มันหนาว อุราเสียนี่กระไร ชุ่มชื่นหัวใจๆ เมื่อได้ยินเสียงสำเนียงของโทน โทนป๊ะโทนป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น โท่น โท่น เสียง โทน ตะโพนเร้าใจ

เพลงรำวงกันก่อนนะเธอ

รำวงกันก่อนนะเธอ แรกเจอสายตาก็รักกัน รำวงเหมือนทอดสะพาน สุขสำราญ ตัวฉันรักเธอ รักกันนั้นมันแสนยาก คารมปากชายเชื่อไม่ได้ ใจชายหมุนเวียนเปลี่ยนไป เชื่อไม่ได้น้ำใจอย่างเธอ

อุปกรณ์

สมัยก่อนชาวบ้านเกวียนหักรำวงกัน โดยใช้เครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว คือ กลองทัด ชาวบ้านเรียกกันว่า กลองเพล (กลอง - เพน) ใช้ตีกำกับทำนองเพลง ซึ่งมีจังหวะเดียว คือ แต็ก ตุง ตุง แต็ก ตุง ตุง ถ้าต้องการให้เพลงเร็วขึ้น ก็รัวกลองให้จังหวะกระชั้นขึ้น ต่อมามีการประยุกต์ใช้เครื่องดนตรีชนิดอื่นประกอบ เช่น ฉิ่ง ลูกซัด

คุณค่า

บทบาทของศิลปะการแสดงรำวงย้อนยุคหรือรำวงพื้นบ้าน รำวงพื้นบ้านในอดีต คือการได้แสดงออกซึ่งความเบิกบาน ความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียด หรือเป็นการพักเพื่อคลายความง่วงเหงาในยามทำงาน เช่น การพานฟาง ระหว่างที่รอชาวบ้านก็ชวนกันเล่นรำวง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ รำวงเป็นเครื่องมือช่วยผ่อนคลายความทุกข์ยากระหว่างสงคราม เมื่อบ้านเมืองสงบ รำวงกลายเป็นแหล่งบันเทิงของชาวบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวแล้ว การฟื้นฟูศิลปะการแสดงรำวงย้อนยุคหรือรำวงพื้นบ้าน รำวงพื้นบ้านที่ตำบลเกวียนหัก ได้เลิกเล่นกันไปประมาณ ๔๐ - ๕๐ ปีแล้ว ยังคงมีผู้สูงอายุที่ยังพอจำเนื้อเพลง ท่ารำ ของรำวงได้ จากลีลาท่ารำ และทำนองเพลง ประกอบกับเนื้อหาที่มีความสนุกเร้าใจ จึงมีผู้สนใจพยายามฟื้นฟูรำวงพื้นบ้าน ให้กลับมามีชีวิตชีวาและเป็นสีสรรของชุมชนที่นี่อีกครั้ง โดยพยายามปลูกฝังให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการนำของ นายกาญจน์ กรณีย์ ชาวบ้านบ้านตะปอนใหญ่ ตำบลเกวียนหัก

ข้อมูลผู้บอกรายละเอียด

เฉลา ดีภัก, นาง. ผู้แสดงศิลปะพื้นบ้าน (ร้องเพลงรำวง เพลงหงส์ฟาง). เกิดเมื่อ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (อายุ ๗๐ ปี) บ้านเลขที่ ๒๖/๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ๒๒๒๐๐ โทร. ๐๘๖-๖๖๙๕๐๘๘ บันทึกข้อมูล ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ ปิ่น สิทธิการ, นาง. ผู้แสดงศิลปะพื้นบ้าน (แสดงรำวง ร้องเพลงรำวง). เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ (อายุ ๗๓ ปี) บ้านเลขที่ ๕๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ๒๒๒๐๐ โทร. ๐๘๙-๕๔๕๕๑๕๐๙ บันทึกข้อมูล ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ เยื้อน บำรุงจิตร, นาย. ผู้แสดงศิลปะพื้นบ้าน (นักร้องเพลงเชียร์รำวง). เกิดเมื่อ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ (อายุ ๘๓ ปี) บ้านเลขที่ ๑๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ๒๒๐๐๐ บันทึกข้อมูล ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ สนม บุญประกอบ, นาง. ผู้แสดงศิลปะพื้นบ้าน (แสดงรำวง ร้องเพลงรำวง). เกิดเมื่อ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๗๒ ปี). บ้านเลขที่ ๒๖ หมู่ที่ ๑ ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด โทร. ๐๘๔-๘๖๖๖๗๑๓ บันทึกข้อมูล ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ เล็ก ประมาณทรัพย์, นาย. ผู้ให้ข้อมูลรำวง (รำวงเขี่ยใต้) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ (อายุ ๖๕ ปี) บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๑ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ๒๒๐๐๐ โทร. ๐ – ๓๙๓๖ – ๒๙๒๒ บันทึกข้อมูล ๙ กันยายน ๒๕๕๐

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
การละเล่นอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ที่ร่วมกันเล่นเพื่อความสนุกสนานและเพื่อความสามัคคี นิยมเล่นกันในระหว่าง พ.ศ. 2484 - 2488
ศิลปการแสดงและดนตรี
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี
เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
https://www.m-culture.go.th/chanthaburi/ewt_news.php?nid=955
จันจิรา ธรรมประเสิรฐ แก้ไขล่าสุด 2022-01-24 15:59:38

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
เท่งตุ๊ก
เท่งตุ๊ก
รำสวด หรือ รำขวัญจันทบูร
รำสวด หรือ รำขวัญจันทบูร
ระบำควนคราบุรี
ระบำควนคราบุรี
ระบำเก็บพริกไทย
ระบำเก็บพริกไทย
ระบำทอเสื่อ
ระบำทอเสื่อ

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

วังสวนบ้านแก้ว
วังสวนบ้านแก้ว