ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี RBRU e-Culture

ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับสืบค้นข้อมูล ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี "เท่งตุ๊ก"

เท่งตุ๊ก
เท่งตุ๊ก

เท่งตุ๊ก

ทำไม “เท่งตุ๊ก” จึงได้รับการบันทึกไว้ในสถิติ “บันทึกไทย”

ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยมีหลากหลาย ที่คนไทยรู้จักกันดีอย่างเช่น โขน ลิเก มโนราห์ แต่เมื่อเอ่ยถึง “เท่งตุ๊ก” คนไทยหลายคนอาจยังไม่รู้จัก เพราะ “เท่งตุ๊ก” เป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย คือ ที่จังหวัดจันทบุรี

คืออะไร

“เท่งตุ๊ก” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทย มีตัวละคร ตัวพระ ตัวนาง ผู้ร้าย แสดงไปตามบทบาทและเนื้อเรื่อง แต่เดิมส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิงแสดง ยกเว้นตัวตลกซึ่งอาจใช้ผู้ชาย มีเครื่องดนตรีประกอบการแสดง คือ กลองตุ๊ก โทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ลักษณะการร่ายรำมีกลิ่นอายของละครชาตรี

เนื้อเรื่องที่ใช้แสดง สมัยก่อนจะใช้เรื่องที่มากจากนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวจักรๆ วงศ์ๆ แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ายุคสมัย และความนิยมบ้าง โดยอิงเรื่องราวชีวิตประจำวัน

การแต่งกายของตัวละคร เป็นการแต่งองค์ทรงเครื่องนุ่งสลับเพลา ผ้าโจงหางหงส์ ผ้ายกจีบ สวมเสื้อ ใส่กรองคอ สวมสังวาลย์ ทับทรวง เข็มขัด กำไลข้อมือ ข้อเท้า สวมถุงเท้า ศีรษะสวมชฎา

กำเนิด “เท่งตุ๊ก”

จากคำบอกเล่าของ หนึ่งในผู้สืบทอดศิลปะพื้นบ้าน “เท่งตุ๊ก”โดย “ครูจักรวาล มงคลสุข” เจ้าของคณะจักรวาลมงคลศิลป์ วิทยากรท้องถิ่นประจำจังหวัดจันทบุรี ผู้ซึ่งอุทิศชีวิตตัวเองเพื่อฝึกสอนและสืบทอดศิลปะพื้นบ้านนี้ เพียงเพื่อหวังไม่ให้มันถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา…

“ครูจักรวาล” เล่าให้ฟังว่า …“ละครเท่งตุ๊กมีมานาน ประมาณช่วงก่อนสงครามโลก ตามคำบอกเล่าของรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จนมาถึงรุ่นของครู ซึ่งก็นานพอสมควร เพราะรุ่นครูเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้สืบทอดมาจากคุณครูต้อยหยิน สวัสดิชัย ซึ่งในตอนนั้นครูท่านอายุถึง 89 ปี แต่ท่านยังพอจำได้ ครูเลยได้สืบทอดท่ารำมา และหลังจากนั้นก็ได้มาตั้งคณะของตัวเองเมื่อพ.ศ.2535 แล้วก็ฝึกลูก ฝึกหลานต่อๆ กันมา

สาเหตุที่เรียกศิลปะพื้นบ้านนี้ว่า “เท่งตุ๊ก” เพราะเป็นไปตามชื่อของเครื่องประกอบการร่ายรำ หรือประกอบการแสดง ซึ่งจะมีโทน กลองตุ๊ก ฉิ่ง กรับ ฉาบเล็ก แต่ปัจจุบันปรับให้ทันสมัยขึ้น จึงนำระนาดเอกมาผสมโรงด้วย ที่บอกว่าอาศัยเรียกตามเครื่องประกอบการร่ายรำเพราะเวลาตีโทน เสียงจะดัง เท่ง และเวลาตีกลองตุ๊ก เสียงจะดัง ตุ๊ก เลยเรียกกันว่า เท่งตุ๊ก”

หลายคนอาจจะรู้สึกว่าละคร “เท่งตุ๊ก” นั้น มีลักษณะคล้ายกับมโนราห์

ศิลปะพื้นบ้านของทางภาคใต้ “ครูจักรวาล” ก็ได้เล่าให้ฟังว่า...

“สมัยก่อนสงครามโลกได้มีโนราห์โดยสารเรือสำเภา อพยพย้ายถิ่นฐาน ขณะที่นั่งเรือมาได้เกิดลมพายุ จึงทำให้เรือแตก คนบนเรือต่างคนก็ต่างขึ้นฝั่งตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดจันทบุรี แล้วโนราห์แต่ละคนก็ใช้วิชาชีพ ที่ติดตัวมาฝึกหัดให้กับคนในท้องถิ่น แต่สิ่งที่ต่างกันของศิลปะทั้งสองอย่างคือ ภาษาถิ่น เพราะด้วยสำเนียงที่แตกต่าง ทำให้เวลาร้องก็จะ แตกต่างกันไป นอกจากจะต่างกันด้วยคำร้องแล้ว ท่วงท่าเวลารำก็ยัง แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งจุดเด่นก็จะเป็นเรื่องของการโหมโรงโทนกลอง บทไหว้ครู บทซัด บทรำซัด เวลารำซัดบทกันจะต้องรำเป็นคู่ ในสมัยก่อนผู้รำจะเป็นผู้หญิงล้วน แต่ปัจจุบันก็จะมีผู้ชายมาร่วมแสดงด้วย ถือว่าเป็น การช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านนี้เอาไว้”

จากประวัติอีกด้านหนึ่งมีการกล่าวว่า

การกำเนิดละครเท่งตุ๊กในจังหวัดจันทบุรีเริ่มจาก “นายทิม ภากกิจ” ได้รับการถ่ายทอดละครชาตรีจากครูขุนทองซึ่งอยู่ในภาคใต้ของไทยแล้วแสดงละครเร่เรื่อยมา และในปี พ.ศ. 2420 ได้นำเข้ามาเผยแพร่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ถึงปัจจุบัน เมื่อกาลเวลาผ่านไปศิลปะก็มีการประยุกต์ ตามสมัยนิยม ปัจจุบันจึงมีการแสดงอยู่ 3 ลักษณะ คือ แบบดั้งเดิม แบบพันทางคือการแสดงที่ผสมผสานกับลิเก และแบบประยุกต์ คือ ผสมวงดนตรีสตริงและหางเครื่อง ตอนนี้ยังคงมีคณะละครที่รับงานอยู่ประมาณ 10 คณะ มี 2 คณะที่แสดงแบบดั้งเดิมได้

แต่การที่ยังคงมีคณะละครอยู่ ก็ใช่ว่าเราจะได้เห็นการแสดงได้โดยทั่วไปในจันทบุรี เพราะปัจจุบันนิยมแสดงเพื่อแก้บนหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานผลไม้ งานประจำปี งานปิดทองฝังลูกนิมิตร งานประเพณีทิ้งกระจาด หรืองานทำบุญทั่วๆ ไป ถ้าหากอยากดูจริงๆ ต้องหาข้อมูลว่าจังหวัดมีงานประเพณีช่วงไหน แล้วงานนั้นได้นำ “เท่งตุ๊ก” มาแสดงหรือไม่

ด้วยชาวบ้านจังหวัดจันทบุรี ที่ยังคงรักษาศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เอกลักษณ์ได้ยั่งยืนมานานถึงปัจจุบัน ซึ่งหาที่จังหวัดอื่นไม่ได้ บันทึกไทย จึงบันทึกว่า “จันทบุรีมีศิลปะการแสดงพื้นบ้านละคร เท่งตุ๊ก เพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทย”

รายละเอียดข้อมูลท้องถิ่น

เท่งตุ๊ก
เท่งตุ๊กเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทย มีตัวละคร ตัวพระ ตัวนาง ผู้ร้าย แสดงไปตามบทบาทและเนื้อเรื่อง แต่เดิมส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิงแสดง ยกเว้นตัวตลกซึ่งอาจใช้ผู้ชาย ลักษณะการร่ายรำมีกลิ่นอายของละครชาตรี
ศิลปการแสดงและดนตรี
บันทึกไทย
เท่งตุ๊ก วัฒนธรรมพื้นบ้าน ละครชาตรี
http://thailandrecords.org/story_detail.php?sendid=17
จตุพร พุทธิศา แก้ไขล่าสุด 2019-04-05 15:10:07

ข้อมูลอื่นประจำหมวดหมู่

เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
เพลงรำวงพื้นบ้านเมืองจันท์
เท่งตุ๊ก
เท่งตุ๊ก
รำสวด หรือ รำขวัญจันทบูร
รำสวด หรือ รำขวัญจันทบูร
ระบำควนคราบุรี
ระบำควนคราบุรี
ระบำเก็บพริกไทย
ระบำเก็บพริกไทย
ระบำทอเสื่อ
ระบำทอเสื่อ

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

วังสวนบ้านแก้ว
วังสวนบ้านแก้ว