พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุลาลัย ( เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายทับ ต่อมาได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฏาคมพ.ศ. ๒๓๖๗ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ สิริรวมพระชนมายุถ ๖๓ พรรษา ๒ วัน สถิตในราชสมบัติ ๒๖ ปี ๘ เดือน ๑๒ วัน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถรอบด้าน และทรงมีความรู้เป็นเลิศ ทั้งในด้านการรบ การปกครอง การค้า ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชียและกับมหาอำนาจตะวันตกพระปรีชาสามารถดังกล่าวปรากฏชัด
ตั้งแต่ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์ทรงนำทัพป้องกันพระราชอาณาจักรจากการคุกคามของพม่าทรงว่ากรมท่า กำกับการสร้างกองเรือพาณิชย์และทรงติดต่อใกล้ชิดกับพ่อค้าชาวยุโรปจนเป็นที่ตระหนักกันดี ถึงบทบาท และ ความสำคัญของพระองค์ในกิจการบ้านเมือง
ในรัชสมัยนี้เอง ไทยได้เกิดกรณีพิพาทกับญวน สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าญวน จะมายึดจันทบุรีเป็นที่มั่นเพื่อทำการต่อสู้กับไทย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็น แม่กองออกมาสร้างป้อมค่าย และเมืองขึ้นใหม่ให้มีชัยภูมิดี เหมาะแก่การต่อสู้ข้าศึกและเมือง ใหม่นี้ก็คือ ค่ายเนินวง หรือปัจจุบันคือ โบราณสถานค่ายเนินวงที่ตำบลบางกะจะนั่นเอง
ตลอดรัชสมัย พระองค์ปกครองประเทศโดยทะนุบำรุงให้เข้มแข็งรุ่งเรือง ทรงเพิ่มพูนรายได้ ของประเทศจนมั่งคั่ง สามารถนำไปใช้ในการป้องกันประเทศ ตลอดจนบำรุงพระศาสนา ศิลปะต่าง ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองและช่วยเหลือประเทศชาติยามคับขันในสมัยต่อมานับได้ว่า พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณยิ่งพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย